มูลนิธิเพชรเกษม สาขากรุงเทพมหานคร ยื่นหนังสือร้องสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. หลังถูกศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร หรือ เอราวัณ ส่งหนังสือระงับการออกให้บริการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่าน
วันนี้ (8 ธ.ค. 66) นายบัญชา ศรีนิลพันธ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิเพชรเกษม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิเพชรเกษมก็เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญที่คอยให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยตลอด เพื่อเต็มเติมความต้องการของผู้บาดเจ็บ ซึ่งได้ทำการยื่นหนังสือขอลงทะเบียนเข้าร่วมศูนย์เอราวัณมาถึง 5 ครั้งในระยะเวลา 4 ปี แต่กลับถูกศูนย์ฯ ปัดคำร้องทิ้งซ้ำๆ อ้างว่า 8 องค์กรเอกชนภายในศูนย์มีการคัดค้าน โดยทางศูนย์เอราวัณเองก็ไม่เคยลงมาตรวจสอบมาตรฐาน หรือเรียกทางมูลนิธิไปพูดคุยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ เอง อ้างว่าอัตราการช่วยเหลือที่มีอยู่เพียงพออยู่แล้ว การออกให้บริการของมูลนิธิเพชรเกษม สาขากรุงเทพมหานคร เป็นการทำให้ประชาชนเสียประโชน์ ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะทางมูลนิธิมีสถิติการให้บริการถึง 300 เคสต่อเดือน อย่างเมื่อวานซืนนี้ก็มีเคสผู้ป่วยที่หายใจไม่ออกต้องนำส่งโรงพยาบาลด่วน มีความยินยอมจากทางญาติ แต่ทางศูนย์ราวัณอ้างว่าไม่มีรถ แต่กลับไม่ยอมให้ทามูลนิธิฯปฏิบัติงานทั้ง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมอุปกรณ์ครบถ้วน หรือแม้กระทั่งตอนโควิด -19 เอง ทางมูลนิธิก็ให้ความช่วยเหลือไปกว่า 2,000 เคสโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากจะระงับการวิ่งจริงก็ควรจะเป็นตั้งแต่ตอนนั้น
อีกทั้งยังมีการระบุข้อความในหนังสือคัดค้านว่า หากทางมูลนิธิจะออกให้บริการจะให้ฝั่ง สพฉ. แจ้งความดำเนินคดี แต่ทางมูลนิธิฯ ยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิด และจะยังคงให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ด้านนายพงษ์พิษณุ ศรีธรรมานุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พื้นที่ 3 เป็นผู้รับเรื่อง พร้อมอธิบายว่า โดยปกติ หลักเกณฑ์เข้าร่วมลงทะเบียนคือ สพฉ.จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการคัดเลือกและให้คณะผู้อนุมัติในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็จะมีการรื้อข้อมูลว่าเหตุใดจึงยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ส่วนตอนนี้ทางมูลนิธิเพชรเกษมจะให้ความช่วยเหลือได้ในฐานะภาคประชาชนเท่านั้น จนกว่าจะมีข้อสรุปของเรื่องนี้