สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

View icon 149
วันที่ 8 ธ.ค. 2566 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 11.39 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังอาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง เป็นวันที่ 2 พระราชทานแก่คณาจารย์ และนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จำนวน 57 คน

วันนี้ ทรงบรรยายพิเศษเรื่อง อองโคยีน หรือ ยีนมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์ และเรื่องยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง โรคมะเร็ง เกิดได้จากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่แบ่งตัวแล้วเจริญอย่างรวดเร็วไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดได้จากไวรัสที่แทรกแซงเข้าไปในเซลล์แล้วเข้าควบคุมการทำงานของยีนในเซลล์ปกติ จากการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุลพบว่า ยีนของไวรัสเมื่อเข้าควบคุมแล้วจะเกิดการกลายพันธุ์ของยีน, การย้ายตำแหน่งของโครโมโซม และการเพิ่มจำนวนของยีนอย่างรวดเร็ว ปกติเซลล์จะถูกควบคุมโดยกลุ่มของโปรตีนให้มีการแบ่งตัวในอัตราที่เหมาะสม หากเซลล์ผิดปกติจะเกิดกระบวนการต่อต้านการเกิดมะเร็งขึ้น ด้วยการทำลายตัวเองแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมียีนยับยั้งการเกิดมะเร็งหลายชนิด และทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งแตกต่างกัน เช่น ยีน p53 ทำหน้าที่สร้างโปรตีนจำเพาะผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและเป็นกลไกตรวจจับเซลล์ที่ผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นยีนที่มีความสำคัญและมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้

โรคมะเร็ง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการและประโยชน์กับประชาชน จึงทรงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เพื่อผลิตบุคลากรและขยายขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาธารณสุข ในภาคเหนือตอนบน ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สนับสนุน ส่งเสริม ด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการวิจัย โดยใช้ศักยภาพด้านเทคโนโลยีเฉพาะทางที่ทันสมัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำไปสู่การวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรค ที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง