สพฐ.สั่งลดการบ้านนักเรียน นักวิชาการเผยเป็นแนวทางทีดี

สพฐ.สั่งลดการบ้านนักเรียน นักวิชาการเผยเป็นแนวทางทีดี

View icon 99
วันที่ 11 ธ.ค. 2566 | 11.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สพฐ.สั่งลดการบ้านนักเรียน เพิ่มการเรียนรู้  นักวิชาการเผย เป็นเรื่องดี หลายประเทศทำมาก่อน ไม่อยากให้เป็นเพียงแค่วาทกรรม สร้างภาพว่าการศึกษาไทยได้เปลี่ยนแปลง

11 ธ.ค.66 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่องแนวทางการมอบหมายการบ้าน ขอให้คุณครูผู้สอน ได้ใช้แนวทาง "การลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้" ให้การบ้าน แก่นักเรียน เพื่อให้เด็ก "เรียนดี มีความสุข"

หลักการลดการบ้าน ก็คือ ลดงานที่ครูมอบหมายให้นักเรียนไปทํานอกห้องเรียน หรือไปทำต่อที่บ้าน เน้นให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมให้เสร็จในห้องเรียน และสั่งงาน สั่งการบ้านเฉพาะวิชาที่จําเป็น และควรบูรณาการการบ้าน รายวิชาต่าง ๆ ให้เป็นชิ้นงานเดียวกัน

สำหรับแนวปฏิบัติ "ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้" ขอให้ครู สั่งการบ้านให้เหมาะสม มีเป้าหมาย โดยตรวจสอบปริมาณการบ้านของนักเรียนรายห้องเรียน ดูระยะเวลาที่ใช้ทําการบ้านของนักเรียน ให้เหมาะกับเด็ก ๆ แต่ละช่วงวัยด้วย

ลดเวลาเรียนในห้องเรียนลดลงไป 10-20% เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเรียนมีเวลาไปศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองตามความถนัด ความสนใจได้มากขึ้น ครูควรออกแบบการจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้เชื่อมโยงและต่อเนื่องกันระหว่างช่วงเวลาที่นักเรียนเรียนรู้ที่โรงเรียนและบ้าน

ที่สำคัญ โรงเรียนต้องไปลดจํานวนครั้งของการสอบระหว่างเทอม เน้นข้อสอบปลายภาค วัดทักษะการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเขียนเหตุผล และนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่มาจากการศึกษาค้นคว้าที่หลากหลาย และนําเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ การเรียนรู้แบบใหม่ จะส่งเสริมให้นักเรียน ทำผลงาน ใส่ลงในแฟ้มสะสมผลงานในรูปแบบสื่อดิจิทัล วิดีทัศน์ เพลง และภาพถ่าย เพื่อการศึกษาต่อ และอาชีพที่ใฝ่ฝัน

ด้าน ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า แนวทางลดการบ้านเป็นเรื่องที่ดี หลายประเทศทำมาก่อนแล้ว ไปถึงขั้นยกเลิกการบ้านก็มีเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ หาประสบการณ์รอบตัวมากขึ้น

แนวทางลดการบ้าน จะเป็นจริงขึ้นได้ ทางโรงเรียนต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบ เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้เข้าใจว่า ผู้เรียนการบ้านลดลง ผู้ปกครองจะได้ใกล้ชิดผู้เรียนมากขึ้น มีเวลาเหลือจากการลดการบ้านไปทำประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยตนเอง

อาจารย์สมพงษ์ ไม่อยากให้แนวทางลดการบ้าน เป็นเพียงแค่วาทกรรม สร้างภาพว่าการศึกษาไทยได้เปลี่ยนแปลง  อย่างเมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ระบบ Child Center ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่กลับทำไม่ได้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง