ปอดของเราอาจรอดจากโควิด-19 แต่อาจจะพังเพราะฝุ่น

ปอดของเราอาจรอดจากโควิด-19 แต่อาจจะพังเพราะฝุ่น

View icon 164
วันที่ 16 ธ.ค. 2566 | 10.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ช่วงนี้ฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นมาก แทบจะไม่มีจังหวัดไหนที่ปราศจากฝุ่นจิ๋วนี้ แม้ปริมาณรถบนท้องถนนจะลดลงกว่าปี 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด เพราะหลายองค์กรยังคงให้พนักงาน work from home

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด อยากเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้อย่างจริงจัง

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Heart Journal เมื่อเดือนมีนาคม 2562 รายงานว่าผลของการสูดอากาศที่มีมลพิษ
- ทำให้คนยุโรปมีอายุสั้นลงเฉลี่ยแล้วคนละ 2 ปี
- ทำให้ในแต่ละปีคนร่วม 8 แสนคนตายก่อนวัยอันควร (คิดเป็นร้อยละ 17 ของจำนวนคนตายเฉลี่ย 5 ล้านคนต่อปี)
- ส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วงอายุ 40-50 ปี
- ประมาณ 80% ของผู้เสียชีวิตในกลุ่มอายุ 40-50 เสียชีวิต เนื่องจากผลกระทบของการสูดมลพิษทางอากาศ ผ่านกระแสเลือดที่ปนเปื้อน ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดันในหลอดเลือดสูง  stroke และหัวใจล้มเหลว โดยไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบหายใจใดๆ

ฝุ่นมาเจอเราทุกปีในช่วงต้นและปลายปี – ภาษีคาร์บอนช่วยได้จริงหรือ?

ความจริงแล้ว...ก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซที่เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดภาวะฝุ่นควันปกคลุม ไม่ใช่มีเพียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ยังมีไฮโดรคาร์บอน และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งรถจักรยานยนต์มีอัตราการปล่อยก๊าซเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์

การจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับยานพาหนะควรจะครอบคลุมการปล่อยกลุ่มก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด มิใช่เพียงแต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่มีความยุติธรรม โปร่งใส ควรต้องมีกระบวนการวัดที่ชัดเจนหรืออย่างน้อยมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถทุกรุ่นจากหน่วยงานกลาง ไม่ใช่เป็นการให้ข้อมูลจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า

ภาษีคาร์บอนใช้กันทั่วในต่างประเทศ แต่เก็บจากกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่กับยานพาหนะ และยังมี "แผนการใช้เงินที่ได้จากการเก็บภาษีคาร์บอน" หมุนเวียนกลับมาใช้ในระบบเศรษฐกิจโดยไม่เก็บเข้าเป็นรายได้ของรัฐ การใช้เงินภาษีเป็นไปเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับกระตุ้นให้มีการพัฒนาพลังงานสะอาด และใช้ไปเพื่อประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นเพื่อเตรียมรองรับกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการสูดเอาฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย

หลายประเทศ นอกจากใช้ภาษีคาร์บอนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นความตื่นตัวของสังคม ยังอนุญาตให้มีการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเทศแรกๆ ที่ใช้ภาษีคาร์บอน คือ ประเทศฟินแลนด์และ เนเธอร์แลนด์ ที่มีการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2533 โดยเป็นส่วนหนึ่งในภาษีเชื้อเพลิง จากเดิมที่เก็บภาษีจากผู้ผลิตพลังงานเปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บจากผู้ใช้พลังงาน ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้มีการลดระดับการอุปโภคบริโภคที่สร้างคาร์บอน

ประเทศเนเธอร์แลนด์กำหนดให้รายรับภาษีคาร์บอนถูกเอามาใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจผ่านการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ประเทศสหราชอาณาจักรเก็บภาษีคาร์บอนจากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม การค้าและหน่วยราชการ มาตั้งแต่ปี 2544 โดยคิดอัตราภาษีต่างกันไปตามประเภทเชื้อเพลิง เก็บอัตราภาษีต่ำสุดสำหรับการอุปโภคบริโภคที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (หรือที่เรียกว่า LPG) ตามด้วยก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า และสูงสุดสำหรับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ โดยรายรับที่ได้จากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของงบกองทุนประกันสุขภาพ งบสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์พลังงาน โดยไม่ถูกนำส่งเข้ารัฐหรือจัดเป็นรายได้ของรัฐ

**** ภาษีคาร์บอนถือเป็นภาษีสิ่งแวดล้อม และภาษีสิ่งแวดล้อมที่จัดเก็บได้ควรใช้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมิใช่เพื่อกระตุ้นการบริโภคที่ก่อให้มลภาวะขึ้นใหม่ นอกจากนี้รัฐควรมีมาตรการและการจัดการอื่นประกอบด้วย เพื่อลดระดับฝุ่นจิ๋วในประเทศไทย

- รัฐควรจะหาต้นตอแล้วรีบแก้ปัญหาเพื่อลดปริมาณฝุ่นและปริมาณฝุ่นสะสม เพราะยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไหร่ มันก็จะมีค่าฝุ่นที่สะสมไปเรื่อยๆ

การแก้ปัญหาด้วยการทำสวนแนวตั้งหรือแม้แต่เร่งขยายเส้นทางรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินให้ครอบคลุมพื้นที่ในระดับซอย โดยตั้งระดับราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ฝุ่นและควัน เพราะความสะดวกจะทำให้คนหันมาใช้ mass transit แทนรถยนต์ส่วนตัวเอง

และถ้าทำตอนนี้จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ โดยไม่ต้องใช้มาตรการแจกเงินใดๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

- ประชาชนเองต้องหยุดการเผาโดยเฉพาะช่วงอากาศเย็น และที่สำคัญควรกำหนดห้ามจุดพลุปีใหม่หรือในเทศกาลต่างๆ เพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง

- การระวังไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่า ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน เพราะทุกครั้งที่มีไฟป่า ก็จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น ทำให้มลพิษทางอากาศสะสมมากขึ้น

- รัฐควรศึกษาและหาวิธีการลดขยะอย่างจริงจัง หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับฝุ่นยังไง นั่นคือ ขยะที่ทุกคนทิ้งทุกวัน การสร้างขยะในชีวิตประจำวันของเราทุกคนที่มากมาย เมื่อต้องใช้เตาเผาขยะมากขึ้น มันก็ทำให้ฝุ่นมากขึ้น

ปอดเราอาจจะพังเพราะฝุ่น ... ทุกคนควรต้องช่วยกันทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อช่วยกันลดฝุ่น แทนที่จะอาศัยเปิดเครื่องฟอกอากาศไปวันๆ ... การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง