เปิดฉายาตำรวจ ปี 2566 ต่อ เฟรนลี่ - โจ๊ก รอได้

View icon 238
วันที่ 27 ธ.ค. 2566 | 11.22 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - มาแล้วฉายาตำรวจประจำปี 2566 ของสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ปีนี้มีบุคคลที่อยู่ในข่าวได้รับฉายากันทั่วหน้า 

คนแรกคือ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปีนี้ได้รับ ฉายา "ต่อ เฟรนลี่"

มาจากที่เป็นคนเรียบง่ายไม่ถือเนื้อถือตัว บ่อยครั้งจะเห็นภาพร่วมวงกินข้าว กินก๋วยเตี๋ยวกับผู้ใต้บังคับบัญชา เวลาออกตรวจเยี่ยมกำลังพลตามโรงพัก ยังวางตัวเป็นกันเองกับลูกน้อง เสมอต้นเสมอปลาย

2. พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉายา "สุภาพบุรุษสีกากี"

มาจากที่การเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาวุโสอันดับที่ 1 ในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 13 และ 14 เจ้าตัวมีลุ้นเป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้ถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง ไม่มีแม้จะฟ้องร้อง หรือทวงสิทธิ์ แถมยังได้รับการเสนอชื่อไปรับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อตอบแทน สุดท้าย "บิ๊กรอย" ยังคงปักหลักทำงานในหน้าที่เหมือนเดิม

3. พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉายา "โจ๊ก รอได้"

เชื่อได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ด้วยฝีไม้ลายมือการทำงานที่ปรากฏต่อสายตาประชาชน ประกอบกับอายุราชการที่ยังคงเหลืออีกหลายปี ทำให้ถูกจับตาว่ามีสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งเจ้าตัวก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า "ตนเองรอได้ ใครอยากเป็น ผบ.ตร. ก็เป็นไปก่อน"

4. พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉายา "หลวงโดดปราบยา"

มาจากชื่อเล่นว่า "หลวง" ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายให้ดูแลงานป้องกัน บำบัด ผู้ติดยาเสพติด จนสุดท้ายได้รับการเสนอชื่อกระโดดข้ามห้วยไปเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. จึงเป็นที่มาของฉายานี้

5. พลตำรวจโท ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฉายา "จ้าว แข็งโป๊ก"

ขึ้นชื่อเป็นตำรวจที่มีความตงฉิน ยอมหักไม่ยอมงอ และไม่ยอมรามือให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ออกนอกลู่นอกทาง การแต่งตั้งที่ผ่านมาหลายคนคิดว่า พลตำรวจโท ธิติ ต้องได้ย้ายหรือไม่ก็ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่สุดท้ายก็ยังรักษาเก้าอี้ "น.1." ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

6. พลตำรวจโท ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ฉายา "บิ๊กอรรถกัดไม่ปล่อย"

ด้วยความที่มีชื่อเล่นว่า "อรรถ" ผ่านคดีดังมาก็หลายคดี ทำคดีอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งเจ้าตัวยังเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ PCT ไล่จับเครือข่ายพนันออนไลน์ รวมกับถึงคดีลูกน้องของ "บิ๊กโจ๊ก" จึงเป็นที่มาของฉายา

7. พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ฉายา "เพชฌฆาต โจรไซเบอร์"

ถือเป็นนายตำรวจที่ลงพื้นที่ไปกับลูกน้องเกือบทุกคดี ที่มีการจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ และทำงานแบบกัดไม่ปล่อย ขณะเดียวกันยังแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์กลโกงของมิจฉาชีพ ให้ประชาชนให้รู้เท่าทันมีสติ ไม่ตกเป็นเหยื่อ จึงเป็นที่มาของฉายานี้

8. พลตำรวจโท จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 ฉายา "ที่สุด ของแจ้"

จากที่มีชื่อว่า "แจ้" เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยาวนานถึง 5 ปี ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้ง ก็คาดหมายว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บัญชาการ แต่ก็อกหักทุกครั้ง จนสุดท้ายได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 ซึ่งถือเป็นปีสุดท้ายก่อนเกษียณ

9. พลตำรวจตรี นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฉายา "เชอร์ล็อคนพ"

มาจากผลงานการสืบสวนคดีสำคัญ ๆ ล่าสุดกับผลงานการสืบสวนคดี "น้องชมพู่" ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการคลี่คลายคดี จนศาลชั้นต้นสั่งจำคุก "ลุงพล" 20 ปี ทำให้ ผบ.ตร. ชื่นชม ยกเป็นโมเดลให้นักสืบรุ่นใหม่ จึงนำไปเทียบเคียงคล้ายกับนักสืบดังในนิยายและภาพยนตร์ "เชอร์ล็อคโฮล์ม" ที่มาของฉายานี้

10. พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ฉายา "มือปราบกังฉิน"

มาจากการทำคดีจับกุมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, จับกุมลูกเขย "ชาดา ไทยเศรษฐ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ แบบไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ จึงเป็นที่มาของฉายานี้

11. พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ฉายา "โคนัน นครบาล"

มาจากผลงานโดดเด่นด้านการสืบสวนเทียบชั้นครู ตามเช็กบิลปิดคดีสำคัญ ๆ ได้หลายคดี โดยเฉพาะคดีล่าสุด คือ การจับกุมองค์กรอาชญากรรมขนาดเล็ก ที่ร่วมกันยิง "ครูเจี๊ยบ-น้องหยอด" โดยจับกุมได้แล้ว 25 คน จาก 26 คน และในรอบปีนี้ยังจับกุมคดีตามหมายจับได้ถึง 1,443 คดี จึงเป็นที่มาของฉายานี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง