มาตรา 64 โอกาสกับวิถีชีวิตของคนไทยในผืนป่า

มาตรา 64 โอกาสกับวิถีชีวิตของคนไทยในผืนป่า

View icon 150
วันที่ 5 ม.ค. 2567 | 15.46 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พ.ร.บ.อุทยานฯ มาตรา 64 ให้ราษฎรในผืนป่าได้มีที่ทำกิน อนุรักษ์วิถีชีวิตคนกับธรรมชาติ

ปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า มีให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ สาเหตุส่วนหนึ่งคือการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่อีกมุม วิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่ก็ต้องอยู่อาศัยหากินในป่า จึงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก แต่วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป เมื่อกฎหมายฉบับเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 ถูกยกเลิกไป และประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพิ่มเอามาตรา 64 และ 65 ขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้

เดิมทีกรมอุทยานฯ ด้วยกฎหมายฉบับเก่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ไม่ค่อยยอมรับกรณีที่มีคนอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งหลักการทั่วไปเจ้าหน้าที่จะควบคุมการใช้พื้นที่ป่า หากพบการบุกรุกก็จะใช้วิธีการผลักดันในรูปแบบต่าง ๆ และทวงคืนผืนป่ากลับมา แต่ระยะหลังมานี้ กรมอุทยานฯ มองว่าเรื่องของคนในพื้นที่ป่านั้นแยกกันไม่ออก บางแห่งราษฎรเข้ามาอยู่ก่อนกฎหมายประกาศ ฉะนั้นตามผลของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ มีคนอยู่มาก่อน อยู่ระหว่าง หรือบุกรุกใหม่ จึงเป็นต้นกำเนิดของ พ.ร.บ.อุทยานฯ มาตรา 64 และ มาตรา 65

มาตรา 64 คำนึงถึงการอยู่อย่างยั่งยืน ให้สิทธิที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ เพราะอาจมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ และจะกลายเป็นการวนเวียนบุกรุกป่า การซื้อขายพื้นที่ป่าของกลุ่มนายทุน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังมีการสืบสิทธิตกทอดไปยังลูกหลานหรือผู้ร่วมอยู่อาศัย ซึ่งไม่ใช่การตกทอดทางมรดก แต่ให้ส่งต่อพื้นที่ทำกินตามวิถีชีวิต ซึ่งจะมีกฎเกณฑ์กติกา อาจมีเงื่อนไขของเรื่องระบาดวิทยา และขอให้ราษฎรช่วยดูแลป่าและไม่ให้เกิดการบุกรุกเพิ่ม สร้างความมั่นคงในชีวิตให้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ส่วนมาตรา 65 จะขยายความเพิ่มเติมว่า เมื่อราษฎรอยู่ในพื้นที่แล้ว ก็ต้องพึ่งพิงทรัพยากรบางอย่างจากป่า เช่นการเก็บเห็ด หาหน่อไม้ ซึ่งอนุญาตให้ทำได้ หากทรัพยากรนั้นเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนกันได้ เจ้าหน้าที่ก็จะรายงานทรัพยากรนั้นมาที่กรมอุทยานฯ และจะอนุญาตให้เก็บใช้ทรัพยากรดังกล่าวได้ หลังจากนี้จะไม่ได้เห็นข่าวลุงหาหน่อไม้หรือลุงเก็บเห็ดถูกดำเนินคดีอีก หากอยู่ในพื้นที่ตาม ม.65 ก็จะไม่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอีก เรื่องวิธีชีวิต การอยู่การกิน การพึ่งพิงทรัพยากร ก็จะสามารถทำได้ตามวิถีชีวิตในผืนป่า

โครงการนี้ใกล้ถึงความจริงแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยภายใน 240 วันตามที่ พ.ร.บ.กำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอพระราชกฤษฎีกา เกี่ยวกับเงื่อนไขของบุคคลที่จะเข้าใช้พื้นที่ เพราะต้องตรวจสอบว่าเป็นนายทุนหรือไม่ ใช่ราษฎรในพื้นที่จริงหรือเปล่า เพราะอาจเป็นคนภายนอกที่มาอ้างสิทธิก็ได้ จึงต้องกำหนดเงื่อนไขให้ครอบคลุม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณา เมื่อผ่านเงื่อนไขก็จะนำเงื่อนไขมาพิสูจน์สิทธิ หากตรงตามเงื่อนไขก็จัดทำพระราชกฤษฎีกาออกมา เปรียบเสมือนการแบ่งเขตอุทยานฯ ออกมา มีรูปแบบบริหารจัดการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพียงเอื้อต่อการอยู่อาศัย ก็จะลดแรงกดดันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ราษฎรในพื้นที่ป่าก็จะมีที่ทำกิน อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงตามวิถีชีวิตเดิม และยังป้องกันกลุ่มนายทุนมิให้เข้ามารุกล้ำพื้นที่ป่า หาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเมืองไทยได้อีก