จับสัญญาณรอยร้าว รัฐบาล-แบงก์ชาติ

View icon 103
วันที่ 10 ม.ค. 2567 | 11.22 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เป็นเรื่องที่ขอความคิดเห็นจากบรรดากูรูด้านเศรษฐศาสตร์ยากมาก ๆ กรณีทั้ง นายกรัฐมนตรี เศรษฐา และ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ จะพบปะเจอะเจอกันอีกครั้ง สะท้อนสัญญาอะไรได้บ้าง เจอกันครั้งแรกก็ท่ามกลางรอยร้าวกับปมคิดต่างประเด็นเงินดิจิทัล รอบนี้เรื่องดอกเบี้ยอีก รอยร้าวเดิมจะแตกแยกหรือประสาน คงต้องลุ้นต้องติดตามกัน

ไปย้อนดูภาพ เมื่อครั้งที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า เชิญ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ มาหารือปมคิดต่าง ๆ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งทั้ง ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และเลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยมาตลอด และดูเหมือนจะโน้มน้าวความคิดของทั้ง 2 ท่านยากมาก ๆ แม้ครั้งนั้นจะสะเทือนเก้าอี้ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หลังมีข่าวหลุดออกมาว่า นายกรัฐมนตรี เตรียมปลด ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แต่ทั้ง 2 ท่านเองก็ยืนกรานไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการกู้เงินมาแจกประชาชน เพราะจะกระทบกับความเชื่อมั่น พูดง่าย ๆ เมื่อประเทศชาติเป็นหนี้อีกกว่า 5 แสนล้านบาท ก็ใช่จะดูดีในสายตาต่างชาติ

การหารือครั้งนั้นไม่มีการให้สัมภาษณ์ใด ๆ จากฝั่ง ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มีเพียงนายกรัฐมนตรีที่ออกมาบอกว่าไม่มีอะไร เป็นการหารือปรับจูนความคิด ซึ่งนายกฯ เองก็รับข้อเสนอแนะจาก ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ นำมาสู่การแจกเงินเฉพาะบางกลุ่ม ก็เสมือนการชกยกนี้ทางแบงก์ชาติจะชนะไป แต่ก็ใช่ว่ารอยร้าวจะกลบหมด

ล่าสุดผุดประเด็น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลพาดพิงถึงการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ หลังเพจ "หนุ่มเมืองจันท์" ออกมาวิจารณ์การบริหารของแบงก์ชาติ ที่ปล่อยให้ธุรกิจธนาคารฟันกำไรมากถึง 2.2 แสนล้านบาท ในปีที่แล้ว ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในภาวะถดถอย เปรียบเปรยแบงก์กำไรเพิ่มขึ้น จึงถือว่าผิดปกติแล้ว เหมือนร่างกายอ่อนแอ แต่หัวใจกลับแข็งแรง แบงก์ชาติเปรียบเหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่องหัวใจ ถ้าการทำงานของหัวใจผิดปกติแบบนี้ ไม่คิดทำอะไรบ้างหรือ ตามมาด้วยการแสดงความคิดเห็นกระหน่ำกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง และกลายเป็นการเปิดศึกความขัดแย้ง ยกที่ 2 ของผู้บริหารองค์กรสูงสุดของประเทศอีกครั้ง

จากนั้น กระหน่ำกดดัน ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ที่เพิ่มขึ้นมามากถึง 8 ครั้ง ราว 2% ตั้งแต่โควิด-19 เบาบางลง หรือดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นจาก 0.50% มาเป็น 2.50% เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งหมดเป็นที่มาของการเชิญ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒ์ เข้าเคลียร์ใจกันบ่ายวันนี้ ซึ่งก็คงจะได้หารือทั้งเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบายและเงินดิจิทัล ที่กฤษฎีกาออกมายืนยันแล้วว่าไม่ได้ไฟเขียวให้ทำได้ เพียงแต่ให้สอบถามความเห็นให้รอบด้าน ประเด็นเศรษฐกิจไทย วิกฤต จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

ด้าน นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ก็มองว่าการพบกันครั้งนี้ระหว่าง นายกฯ กับ ผู้ว่าฯ ธปท. ก็เป็นสิ่งที่ต้องเคารพการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน และต้องมุ่งเป้าหมายเดียวกัน คือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต

ส่วนการที่รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ ก็ยังเป็นสิ่งที่มีข้อมูลเชิงวิชาการ ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และไม่จำเป็น ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ

ก็เป็นมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ซึ่งก็ต้องจับตากันว่าหลังพบกันนั้น ทิศทางไม่ว่าจะเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยที่ทำสังคมว้าวุ่นมาหลายวัน จะมีทิศทางที่แน่ชัดไปในทางใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง