ปฏิกิริยา ด้อมส้ม หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

View icon 134
วันที่ 1 ก.พ. 2567 | 11.35 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า กรณีการหาเสียง แก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็ทำให้โซเชียลเกิดแฮชแท็กขึ้นมาอย่างน้อย 3 อัน คือ #ศาลรัฐธรรนูญ #พรรคก้าวไกล #ล้มล้างการปกครอง มี "ด้อมส้ม" ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามถึงเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน

เท่าที่สังเกตความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ จะเป็นไปในลักษณะการแชร์ข้อความ ภาพข่าว หรือคลิปการให้สัมภาษณ์อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า "กฎหมายไม่ได้แฟกซ์มาจากพระเจ้า แต่ร่างด้วยมือมนุษย์" ซึ่งพูดก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

หรือจะเป็นการแชร์ภาพข่าวที่เคยมีการสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ให้ความเห็นเชิงสนับสนุน เรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตราเดียวกัน พร้อมกับตั้งคำถามว่า แล้วแบบนี้ จะเข้าข่ายความผิดด้วยหรือไม่

เพจของกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็มีปฏิกิริยารุนแรงไม่แพ้กัน อย่างเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา มองถึงอนาคตที่ไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อไป พร้อมภาพการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่มีคน 3 คน ไปแสดงออกบริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวัน

และที่เคลื่อนไหวแบบเผ็ดร้อนที่สุด คงหนีไม่พ้นกลุ่มที่ขึ้นต้นชื่อด้วยคำว่า "ทะลุ" ที่ทั้งวิจารณ์ และใช้แฮชแท็กด้วยคำหยาบคาย เพื่อตอบกลับผลคำตัดสินที่เห็นว่าไม่ยุติธรรมกับประชาชน

วันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือร้อง กกต. เพื่อพิจารณาว่าพรรคก้าวไกลทำผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2) และต้องยุบพรรคก้าวไกล หรือตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 44 คน ด้วยหรือไม่ รวมไปถึงกรณีเพื่อไทย ที่กำลังรวบรวมหลักฐาน ในช่วงหาเสียง ที่มีกรณีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นกัน เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นบรรทัดฐาน ดังนั้นจะทำให้ต้องยุบพรรคหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้ นายสนธิญา สวัสดี จะเดินทางไปที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร้องสอบจริยธรรม สส. 44 คน ของพรรคก้าวไกล ที่ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรง ตามมาตรา 219 หรือไม่ เพราะหากมีความผิดร้ายแรง อาจจะทำให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล และส่งเรื่องต่อไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา ซึ่งโทษสูงสุดคือ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต และห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง