ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ปี 2567 ใครถึงเกณฑ์ รับสิทธิช่วยเหลือ

ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ปี 2567 ใครถึงเกณฑ์ รับสิทธิช่วยเหลือ

View icon 6.5K
วันที่ 6 ก.พ. 2567 | 14.13 น.
เกาะกระแสออนไลน์
แชร์
ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ปี 2567 รัฐบาลช่วยค่าครองชีพ รายละ 600-1,000 บาท เช็กหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ยื่นขอรับสิทธิอย่างไร

ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ปี 2567 ผู้สูงอายุลงทะเบียนรับเงินคนชรา พ่อแม่ผู้ปกครองเงินอุดหนุนบุตร และเบี้ยยังชีพผู้พิการ โดยล่าสุดนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกรัฐบาล ออกมาย้ำถึงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน รัฐบาลนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย

โดยล่าสุด กลุ่มเปราะบาง ซึ่งประชาชนที่ได้รับสิทธิจำนวน 3 กลุ่ม  ได้แก่  เงินอุดหนุนบุตร เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ ในงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นี้

อ่านข่าว : เงินช่วยเหลือ 3 กลุ่ม เงินเข้าไวขึ้น! เดือนกุมภาพันธ์ 67 นี้

ส่วนรายใหม่ที่ต้องการลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ปี 2567 สามารถยื่นขอสิทธิได้ โดยคุณสมบัติที่กำหนด มีดังนี้

กลุ่มที่ 1  เงินอุดหนุนบุตร เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
สวัสดิการเงินอุดหนุนให้แก่เด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจนหรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย โดยรัฐบาลช่วยออกค่าเลี้ยงดูบุตรให้คนละ 600 บาท/เดือน เพื่อเงินอุดหนุนเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 6 ปี

คุณสมบัติ
เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิ
-มีสัญชาติไทย (พ่อแม่มีสัญชาติไทย หรือพ่อหรือแม่มีสัญชาติไทย)
-เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
-อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
-ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน

ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียน
-มีสัญชาติไทย
-เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ
-เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
-อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย  คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี

อ่านข่าว : ลงทะเบียนได้ทั่วประเทศ เงินอุดหนุนเด็กฯ 600 บาท

วิธีลงทะเบียน
สามารถลงทะเบียนได้ในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิด และผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง ดังนี้
-กรุงเทพมหานคร  : ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต
-เมืองพัทยา         : ลงทะเบียนที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
-ส่วนภูมิภาค         : ลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล

เอกสารที่ต้องเตรียม
--แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
-แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
-บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง
-สูติบัตรเด็กแรกเกิด
-สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร

ทั้งนี้หากเอกสารถูกต้องครบถ้วน จะได้รับเงินภายใน 1 เดือน หรือ ดาวน์โหลดผ่านแอพพลิเคชั่น เงินเด็ก โดยสามารถลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ์ได้ทันที

กลุ่มที่ 2 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จ่ายเป็นรายเดือนแบบขั้นบันได ดังนี้

-อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน
-อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน
-อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน
-อายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน

คุณสมบัติ
-ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2568 คือ คนที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2508 และผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
-ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้สำหรับข้อกำหนดใหม่ (มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.66) ที่ระบุว่า ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด **ในขณะนี้ ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดการมีรายได้ไม่เพียงพอ** ดังนั้นตอนนี้ผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ที่มีคุณสมบัติตามระเบียบเดิมข้างต้น ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้

การลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี 66/67 (ปีงบประมาณ 68) รายละเอียดดังนี้

กรณีที่ 1 ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชัพผู้สูงอายุ
-สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - พฤศจิกายน 2566 และเดือนมกราคม 2567- กันยายน 2567
-จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป (ปีงบประมาณ 2568)

กรณีที่ 2 ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2568 (คนที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2508)
-สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - พฤศจิกายน 2566 และเดือนมกราคม 2567- กันยายน 2567
-จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2568 โดยจะได้รับเบี้บยังชีพในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

เอกสารที่ต้องเตรียม
-บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
-ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นปัจจุบัน
-สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร

วิธีลงทะเบียน
ในเขตกรุงเทพมหานคร ติดต่อสำนักงานเขตที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
ในเขตต่างจังหวัด ติดต่อองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ เทศบาล ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  ในวัน-เวลาราชการ

กรณีผู้สูงอายุไม่สะดวกดำเนินการด้วยตัวเอง
-หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
-สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
 
กลุ่มที่ 3 เบี้ยผู้พิการ 800-1,000 บาท จ่ายตามเกณฑ์อายุ

- ผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน
- ผู้พิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยความพิการ
-มีสัญชาติไทย
-มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
-มีบัตรประจำตัวคนพิการ
-ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในความอุปการะของสถานสงเคราะห์ของรัฐ

เอกสารที่ต้องเตรียม
-บัตรประจําตัวประชาชน
-บัตรประจำตัวคนพิการ (ตัวจริง)
-ทะเบียนบ้าน (ตัวจริง)
-สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมสำเนา

วิธีลงทะเบียน
1.คนพิการที่จะมีสิทธิรับเงินเบี้ยความพิการในปีงบประมาณถัดไป ให้คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการ ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ยื่นคำขอตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ สถานที่และภายในระยะเวลา ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศกำหนด

ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนรับเบี้ยผู้พิการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โทร. 0 2354 3388 ต่อ 311 หรือ 313

ข่าวที่เกี่ยวข้อง