ข่าวเย็นประเด็นร้อน - นายธนกฤต ช่างเรือนกุล อายุ 52 ปี พ่อบุญธรรม ออกมาขอความช่วยเหลือกับทางรายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ว่า ลูกชายถูกรถพ่วง 18 ล้อ ทับ บาดเจ็บสาหัส ตอนนี้นอนอยู่ห้องไอซียูกว่า 2 เดือนแล้ว คดีความกลับไม่ไปถึงไหน แถมตำรวจเรียกลูกตนเองว่าผู้ต้องหาอีก พอถามถึงเรื่องคดีก็บอกว่ารอสอบปากคำลูกชายอยู่ ช่วงลูกชายอาการดีขึ้นเรียกก็ไม่มาสอบปากคำ คดีส่อมีพิรุธหลายอย่าง ที่ช้ำหนักตอนนี้หมอแจ้งมาให้ญาติให้ทำใจ คนเจ็บอาจอยู่ได้ไม่นาน
นายธนกฤต พ่อบุญธรรมผู้บาดเจ็บ เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ช่วงเวลาประมาณ 09.00 น. ลูกชายบุญธรรมของตนชื่อ นายธนิรุท อายุ 33 ปี ได้ขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงาน โดยใช้เส้นทางถนน 346 ปทุมธานี พอถึงบริเวณก่อนถึงแยกไฟแดงมหาวิทยาลัยปทุมธานี ได้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถพ่วง 18 ล้อ ทำให้ถูกพ่วงหลังของรถ 18 ล้อ ทับบริเวณขา อาการสาหัส หน่วยกู้ชีพต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ตนเองจึงรีบเดินทางไปที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบลูกชายแล้ว จึงเดินทางไปที่ สภ.สวนพริกไทย เพื่อสอบถามรายละเอียดของคดี แต่ตำรวจยังไม่ได้ระบุอะไรมาก จึงเดินทางไปดูลูกที่โรงพยาบาล ตอนนั้นลูกอยู่ในห้องไอซียู หมอแจ้งว่ามีอาการปอดฉีก ไส้แตก กระดูกขาแหลกละเอียด ต้องตัดขาโดยด่วน
ระหว่างที่ลูกตนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ตนได้ประสานงานกับพนักงานสอบสวน สภ.สวนพริกไทย ที่ทำคดี ตนต้องอึ้งกับคำพูดของพนักงานสอบสวนท่านหนึ่ง เพราะใช้คำเรียกลูกตัวเองว่า "ผู้ต้องหา"
ตนจึงถามพนักงานสอบสวนท่านนี้ไปว่า ยังไม่ทันพิสูจน์ได้เลยว่าลูกตนเองผิด ทำไมถึงเรียกลูกตนว่าผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า "ผู้กระทำความผิด" แทน จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำคลิปวงจรปิดที่เห็นรถจักรยานยนต์ของลูกตนเองขี่ผ่านมาให้ดู แต่ภาพไม่ค่อยชัด และไม่เห็นตอนเกิดอุบัติเหตุ แล้วบอกว่า สงสัยว่ารถจักรยานยนต์คันนี้คือลูกตนก่อนเกิดเหตุ ตนจึงบอกไปว่าในกล้องวงจรปิดอันนี้ไม่เห็นตอนเกิดอุบัติเหตุเลย ท่านรู้แล้วเหรอว่าใครผิด
จากนั้นตำรวจได้เปิดกล้องวงจรปิดที่เป็นภาพหน้ารถพยานให้ดู แล้วไม่ยอมเปิดเสียงคลิป แล้วระบุว่า พยานที่เป็นคนขับรถในคลิป ให้การว่า เห็นลูกตนเองเบรกรถจักรยานยนต์จนหน้ารถส่าย และรถเสียหลักล้มลง เป็นเหตุให้รถพ่วงมาเหยียบลูกตน ประเด็นนี้ตนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมตำรวจตั้งใจปิดเสียงคลิปนี้ เพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงคนอุทานตอนเกิดอุบัติเหตุ เพราะสัญชาตญาณของคนทุกคนจะอุทานออกมาตอนเห็นอุบัติเหตุทั้งนั้น ตนมาได้ยินเสียงคนขับกับผู้โดยสารอุทานขึ้นมาว่า "นั่นรถจักรยานยนต์นี่" โดยอุทานตอนที่ลูกตนเองถูกรถทับไปแล้ว แสดงให้เห็นว่า คนขับกับผู้โดยสารไม่เห็นตอนชน แต่เห็นเพียงตอนถูกรถทับไปแล้ว
พ่อบุญธรรมผู้บาดเจ็บกล่าวต่ออีกว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ลูกตนเองอาการดีขึ้น หมอได้ถอดสายยางให้อาหาร และเครื่องช่วยหายใจออก หมอได้ถามว่าคดีความไปถึงไหนแล้วมีการสอบปากคำไปหรือยัง ตอนนี้อาการคนไข้เริ่มดีขึ้นมาแล้ว ติดต่อพนักงานสอบสวนมาสอบปากคำได้เลย ตนจึงโทรศัพท์ไปหาพนักงานสอบสวนทันที เพื่อให้มาสอบปากคำ พนักงานสอบสวนก็ได้รับปากว่าจะมาสอบปากคำให้ แต่ก็ไม่มาสอบปากคำสักที
จนกระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ตนจึงโทรศัพท์ไปหาพนักงานสอบสวนอีก สอบถามว่าทำไมถึงไม่มาสอบปากคำ จนถึงขั้นมีปากมีเสียงกับพนักงานสอบสวน ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ทางพนักงานสอบสวนได้เข้ามาที่โรงพยาบาลเพื่อมาสอบปากคำคนเจ็บ แต่ตอนนั้นลูกตนเองได้อาการทรุดลงแล้ว เนื่องจากแผลที่ผ่าตัดติดเชื้อ เลือดออกทางลำไส้ไม่หยุด หมอจึงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไว้ หมอได้แจ้งว่าให้กับตนว่า ให้ทำใจไว้นะ คนไข้อาจไม่รอด ตนจึงรู้สึกเสียใจมาก ถ้าลูกตนตายไปแบบไม่รับความเป็นธรรม หรือไม่แต่ข้อชัดเจนในคดี
สิ่งที่ตนเองหดหู่ใจคือ ตอนที่ลูกตนอาการดีขึ้น ลูกตนเองได้บอกกับตนเองว่า "ตนถูกรถพ่วงเฉี่ยว"
ที่ตนออกมาร้องเรียนในวันนี้ เพราะตนอยากทราบแค่ความจริงเท่านั้น ถ้ามีหลักฐานว่าลูกตนเองเป็นคนผิด ตนก็จะยอมรับได้ ตนจะไม่เอาผิดใครเลย
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยัง สภ.สวนพริกไทย จังหวัดปทุมธานี ได้พูดคุยกับทาง พันตำรวจโท อุฬาร ชินอักษร รองผู้กำกับสอบสวน ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนได้ให้ข้อมูลว่า พนักงานสอบสวนที่ทำคดีนี้ได้ย้ายไปเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนพนักงานสอบสวนในคดี คดีนี้ตนเองทราบเรื่องตั้งแต่เกิดเหตุ ได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่ไปหากล้องวงจรปิดเพิ่มแล้ว และได้สอบปากคำคนขับรถพ่วง 18 ล้อ ไปแล้ว รวมถึงได้สอบปากคำพยานที่เห็นเหตุการณ์แล้ว ตอนนี้รอแค่ผลการตรวจนิติวิทยาศาสตร์ในเรื่องความเร็วของรถคู่กรณีทั้ง 2 คัน ว่า ใครมาถึงจุดที่เกิดอุบัติเหตุก่อนกัน และรอสอบปากคำผู้บาดเจ็บ
ตอนนี้ตำรวจทำหนังสือไปถึงแพทย์ที่รักษาแล้ว เพื่อขอสอบปากคำผู้บาดเจ็บ แต่ทางแพทย์ระบุมาว่าอาการผู้ป่วยยังไม่สามารถให้ปากคำได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แต่รอ
ส่วนประเด็นที่พ่อผู้บาดเจ็บแจ้งว่า ได้บอกให้พนักงานสอบสวนไปสอบปากคำลูกในวันที่ 14 ธันวาคม นั้น ต้องไปถามทางพนักงานสอบสวนเองว่า ติดขัดอะไรทำไมถึงไม่ไปสอบปากคำคนเจ็บในช่วงนั้น ทำไมต้องปล่อยให้เนิ่นนานจนถึงวันที่ 23 ธันวาคม หลังจากนี้ ทางตำรวจจะทำหนังสือไปให้แพทย์ประเมินอาการของผู้บาดเจ็บ ว่าสามารถให้ปากคำได้ไหม หากไม่สามารถให้ปากคำได้ ตำรวจจะทำการสอบปากคำพ่อของผู้บาดเจ็บแทน ยืนยันว่าทำคดีอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องรอหาพยานหลักฐานให้ละเอียดก่อน
ส่วนเรื่องประเด็นที่พนักงานสอบสวนเรียกผู้บาดเจ็บว่าผู้ต้องหานั้น คือ คดีจราจร ตำรวจจะเป็นฝ่ายร้องทุกข์กล่าวโทษ ทำให้พนักงานสอบสวนจะต้องเรียกคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ว่าผู้ต้องหาไปก่อน ถ้าสรุปสำนวนคดีแล้ว ถึงจะเรียกว่าใครเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาได้อย่างชัดเจน