ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ลุยค้น 4 จุด ทลายเว็บหนังเถื่อน เปิดนานกว่า 20 ปี เผยแพร่ภาพยนตร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกว่า 50,000 เรื่อง มูลค่าเสียหายกว่าพันล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เข้าตรวจค้นบ้านพัก 4 จุด ในพื้นที่ กรุงเทพฯ จ.สุรินทร์ และ จ.สุราษฎร์ธานี สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเอกชน ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ จากหลายบริษัทเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอศ. ให้ดำเนินคดีกับเว็บไซต์ที่เผยแพร่ภาพยนตร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้เสียหายจำนวนมากเหล่านี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอศ. จึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จนสืบทราบว่า มีบ้านทั้งหมด 4 หลัง ในพื้นที่ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ,แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพฯ, ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงนำหมายค้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เข้าทำการตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 4 จุด ดังกล่าว ตรวจยึดของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี
โดยในบางจุดพบว่ากลุ่มผู้ร่วมกระทำความผิดนี้มีการดัดแปลงห้องใต้บันได ไว้สำหรับการเก็บฮาร์ดดิสก์หรือไฟล์ข้อมูลภาพยนตร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในลักษณะจงใจซุกซ่อนการตรวจจับอีกด้วย
ทั้งนี้จากการสืบสวน พบว่า พฤติการณ์ของเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้ร่วมขบวนการจำนวนหลายคน แบ่งหน้าที่ในส่วนต่างๆชัดเจน เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยครั้งแรกใช้ชื่อว่า siambit.com ซึ่งเป็นชื่อเว็บไซต์และมีโดเมนเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปอท. เพิ่งเข้าตรวจค้นและจับกุมไปเมื่อ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา แต่ในขณะนั้นเป็นการจับกุมตามความผิดฐาน “เผยแพร่สื่อลามกอนาจารและแฝงการโฆษณาเว็บไซต์การพนันออนไลน์” ต่อมาพบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวนั้นมีการกระทำความผิดในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการลักลอบเผยแพร่ภาพยนตร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสืบสวนขยายผล
สำหรับเว็บไซต์ดังดล่าว ช่วงแรกจะเปิดให้ชมฟรี ต่อมาเริ่มเก็บค่าบริการสมาชิกจากประชาชนทั่วไป มีการเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์เพื่อปกปิดและหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เรื่อยมา ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่าแสนราย เผยแพร่ภาพยนตร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกว่า 50,000 เรื่อง ซึ่งบริษัทผู้เสียหายคำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการสูญเสียรายได้ จากการจำหน่ายตั๋วในโรงภาพยนตร์ และรายได้จากการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ หรือการสตรีมมิ่งแบบถูกกฎหมาย เบื้องต้นเป็น มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
จากการสืบสวนพบว่ารายได้หรือผลประโยชน์ที่เรียกเก็บจากค่าสมาชิกมีเงินหมุนเวียนกว่า 60 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมเตรียมดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ลักษณะดังกล่าวต่อไป