วันนี้ (22 ก.พ. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพวาระพิเศษ ซึ่งมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบัน นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบัน และคณะกรรมการสถาบันเข้าร่วมประชุม
โดยมีวาระการหารือภาพรวมการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย แนวนโยบายการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานอาชีพและระดับคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึงการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 13 จังหวัดของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี
นายอนุทิน ชี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีทิศทางการดำเนินงานที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ จากภารกิจหลักในการรับรองความรู้ ความสามารถ ทักษะในการทำงานของกำลังคน ซึ่งเป็นการยืนยันศักยภาพการทำงาน รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในระดับภูมิภาคอาเซียน ที่ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคทั้งการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ต่างๆ
โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ เพราะจะทำให้เกิดการลงทุนเศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มที่ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สามารถให้การรับรองคนตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนคุณภาพเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนรองรับโครงการนี้ได้ เพียงเท่านี้ก็สร้างความยั่งยืนให้กับประเทศได้
นายอนุทิน ยังกล่าวว่าประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่การบริการด้านสุขภาพของประเทศไทยก็เป็นเสมือน Soft Power ที่ต่างชาติให้ความนิยม ความชื่นชอบ ธุรกิจโรงพยาบาลจึงมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง และจะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
นายอนุทิน ย้ำว่า เงินบาทไทย ซื้อของไทย ใช้ในประเทศไทย ยังไงคนไทยก็จะได้จากเม็ดเงินที่หมุนเวียนภายในประเทศ และนี่คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เหนืออื่นใดคือต้องสร้างความมั่นคง สร้างรายได้ ทำให้คนไทยเกิดความยั่งยืนในการสร้างรายได้ ซึ่งทิศทางนโยบายต่างๆ จะขับเคลื่อนให้เกิดโครงการอีกมากในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องวางรากฐานที่มั่นคงให้กับคนไทย
โดยหลักการของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ คือการเติมทักษะ ให้การรับรอง และสามารถนำใบคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ในการประกอบอาชีพได้เสมือนใบปริญญา เมื่อพัฒนาคนให้ดี มีโอกาส ช่องทางให้เกิดการจ้างงาน ทำให้คนมีรายได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ในการประชุมได้มีการนำเสนอผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาสมรรถนะแรงงานของประเทศไทยด้วย Competency-base payment โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเห็นตรงกันว่าเป็นแนวทางที่สามารถนำไปสู่การกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานอาชีพได้ในอนาคต