สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างไม่หยุดยั้ง และอัตราการเกิดลดลง เป็นผลให้ประชากรไทยหดหาย ด้านแพทย์จุฬาฯ ชี้ สังคมยุคใหม่ ไม่นิยมมีบุตร
อัปเดตสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทย เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2564 สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ นั่นแสดงว่า จำนวนประชากร ทุก ๆ 100 คน จะพบผู้สูงอายุ 30 คน ซึ่งในอนาคต จะตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ และโรคเรื้อรังต่าง ๆ
ข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด หรือ Super-Aged Society ในปี 2572 เร็วขึ้นเดิม จากที่เคยประเมินไว้ในปี 2574 เนื่องจากประชากรไทยลดลง 3 ปีติดต่อกันแล้ว ตั้งแต่ปี 2563-2565
ส่วนปัจจัยที่คนไทยเกิดน้อย เป็นเพราะความกังวลต่อความไม่มั่นคงด้านรายได้และเหตุการณ์แวดล้อม ทั้งวิกฤตโรคระบาดใหม่ ภัยธรรมชาติ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดค่านิยมไม่ต้องการมีบุตร
สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยข้อมูลปี 2566 พบว่าคนไทยกว่า 66 ล้านคน มีจำนวนลดลงถึง 37,000 คน ในปีที่ผ่านมา
ทีมข่าวสอบถามไปยัง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า อัตราการเกิด และการเจริญพันธุ์ของคนไทยลดลง ปัจจุบันหลายคู่สมรสตัดสินใจไม่นิยมมีบุตร ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ส่งผลต่ออัตราการเกิดน้อยลง อัตราการตายขยับขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นตามมา
ในอนาคตสถานพยาบาลที่รับดูแลผู้สูงอายุ จะตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ ซึ่งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหลาย ๆ แหล่ง เตรียมเปิดให้บริการแล้ว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ