ดีเอสไอ รวบครบ 5 ผู้ต้องหา คดีนำเข้าหมูเถื่อน ยันมีข้อมูลบัญชีส่วยหลังเข้าค้นบริษัท

ดีเอสไอ รวบครบ 5 ผู้ต้องหา คดีนำเข้าหมูเถื่อน ยันมีข้อมูลบัญชีส่วยหลังเข้าค้นบริษัท

View icon 255
วันที่ 1 มี.ค. 2567 | 19.32 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ดีเอสไอ รวบครบ 5 ผู้ต้องหา คดีนำเข้าหมูเถื่อน ยันมีข้อมูลบัญชีส่วย หลังเข้าค้นบริษัท เตรียมเรียกเจ้าหน้าที่รัฐ โยงบัญชีส่วยสอบปากคำ สัปดาห์หน้า

จากกรณี พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้ ติดตามจับกุมผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 127/2566 จำนวน 5 คน โดยสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้แล้ว 2 รายนั้น

ล่าสุด วันนี้ (1 มี.ค.67) ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายวุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา ผอ.ส่วนสะกดรอยและการข่าว พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการที่ 1 ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ร่วมกันจับกุม น.ส.ชนิสรา, นายกิตติ และนายภูวดล ผู้บริหารบริษัทเอกชนนำเข้าเนื้อสัตว์ และผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 770-772/2567 ลงวันที่ 27 ก.พ.67 พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ในความผิดฐาน โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ฐานฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา

ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดถึงผลการสอบปากคำผู้ต้องหา 2 ราย ที่ดีเอสไอควบคุมตัวไว้เมื่อวานนี้ว่า ผลการสอบปากคำผู้ต้องหา 2 ราย ทั้งคู่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่คณะพนักงานสอบสวนค่อนข้างได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งเรื่องการประกอบธุรกิจภายในพื้นที่เขตปลอดอากร และเรายังพบบัญชีส่วยที่กลุ่มผู้ต้องหาจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผู้ต้องหายังไม่ได้ให้การในส่วนนี้ แต่จะต้องเข้าให้การอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค. โดยจะต้องกลับไปรวบรวมพยานเอกสาร หลักฐานต่างๆ เพื่อกลับมาตอบใน 20 ประเด็นที่เหลือ ส่วนเมื่อวานทั้งคู่ได้รับการประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน โดยการวางหลักทรัพย์ จำนวน 200,000 บาท

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า สำหรับการจ่ายส่วยของกลุ่มผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนพบจากการเข้าตรวจค้นบริษัทของพวกเขาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 แม้ทั้งคู่จะยังไม่ได้ให้การในส่วนนี้ แต่มีการให้ถ้อยคำสารภาพถึงเรื่องการจะนำตู้ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จะต้องมีการจ่ายเป็นเงินสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน ไม่ต่ำกว่า 20 ราย มีทั้งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานบริเวณชายแดน และยังมีนักข่าวท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และปลัด เป็นต้น โดยดีเอสไอจะต้องไปตรวจสอบว่ารายชื่อที่ปรากฏในบัญชีส่วยเป็นรายชื่อนามสกุลจริง มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือว่าถูกแอบอ้างขึ้นมา เพราะมีพฤติการณ์จ่ายเงินทั้งแบบเงินสดและจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร และเราได้ตรวจสอบแล้วว่าเจ้าของบัญชีธนาคารคือใครบ้าง

เบื้องต้นพบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ อัตราเดือนละ 20,000 – 50,000 บาท และยังมีการจ่ายแบบเป็นรายตู้คอนเทเนอร์ ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าเราจะเชิญตัวกลุ่มเจ้าหน้าที่และบุคคลที่ปรากฏชื่อในบัญชีส่วยมาสอบปากคำในฐานะพยานทั้งหมด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา

ส่วนการสอบปากคำแก่ผู้ต้องหาที่เหลือจะใช้ประเด็นการสอบถามเดียวกันทั้งหมดเพราะ 5 ผู้ต้องหา ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เหตุใดจึงไม่มีการนำตู้ออกจากท่าเรือฯ

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า ภายในสัปดาห์นี้คณะพนักงานสอบสวนมีการนัดหมายประชุมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร และภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนได้ขยายผลมาอย่างต่อเนื่องในคดีพิเศษที่ 127/2566 จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหา 5 รายดังกล่าวถือว่าเป็นกลุ่มที่ 2 และในคดีนี้เราจะมีกลุ่มผู้ต้องหากลุ่มที่ 3 เพิ่มเติมเข้ามาโดยเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารข้อมูลซึ่งได้ขอจากกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เพื่อที่จะมาดูว่าการนำตู้คอนเทเนอร์ จำนวน 10,000 ตู้ เข้ามาในไทยและนำออกจากท่าเรือฯ มีขั้นตอนอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง