ศาลอาญา อนุมัติหมายจับ 9 ผู้ต้องหาล็อต 2 คดีหมูเถื่อน เอี่ยวนำเข้าเนื้อสัตว์ ใช้สิทธิทางภาษี เสียหายกว่า 1.3 พันล้าน พบบัญชีเคลียร์เจ้าหน้าที่รัฐเป็นรายเดือน
วันนี้ (29 ก.พ.67) รายงานข่าวแจ้งว่า พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขออนุมัติหมายจับบุคคล 5 ราย ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารบริษัทเอกชนนำเข้าเนื้อสัตว์ และนิติบุคคล 4 ราย ผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ในคดีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน โดยศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา
สำหรับคดีดังกล่าว พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ดำเนินคดีนำเข้าชิ้นส่วนซากสัตว์ประเภทสุกร ไก่ และเนื้อ เป็นคดีพิเศษที่ 127/2566 และจับกุมตัวผู้ต้องหาในกลุ่มที่ 1 ไปแล้ว 5 คน ต่อมาพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ขยายผลสืบสวนสอบสวนพบอีกว่านอกจากผู้ต้องหาในกลุ่มที่ 1 แล้ว ยังมีนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้องที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีทั้งข้าราชการ, นักการเมือง, กลุ่มนายทุนใหญ่อยู่เบื้องหลัง เป็นกลุ่มที่ 2 และไม่เคยปรากฎว่าเคยถูกตรวจสอบหรือถูกดำเนินคดีอาญามาก่อนแต่อย่างใด ได้เคยนำเข้าซากสัตว์สุกร ชิ้นส่วนไก่ เนื้อวัว จากต่างประเทศและนำออกไปจำหน่ายภายในประเทศไทย ซึ่งในกลุ่มที่ 2 นี้ มีตู้สินค้าถูกยึดที่ท่าเรือแหลมฉบัง ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยกรมศุลกากร ได้ตรวจสอบตู้สินค้าเพิ่มเติมพบว่า มีสินค้าประเภทซากสัตว์ตกค้างที่ท่าเรือ แหลมฉบังอีกจำนวน 90 ตู้ จึงมีหนังสือกรมศุลกากร ด่วนที่สุด ที่กค 0503/21067 ลงวันที่ 15 พ.ย.66 ให้ดีเอสไอดำเนินคดีอาญาเพิ่มเติม จำนวน 16 ตู้ และส่งเรื่องให้ สภ.แหลมฉบัง ดำเนินการจำนวน 74 ตู้ ต่อมา สภ.แหลมฉบังได้มีหนังสือ ที่ ตช 0017 (ชบ).5 (15)/2976 ลงวันที่ 16 ธ.ค.2566 ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 90 ตู้
ดีเอสไอ จึงได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พบว่า บริษัทเอกชน ย่านนนทบุรี มีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าซากสัตว์ดังกล่าว จึงขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี ทำการตรวจค้น จำนวน 2 จุด ที่สำนักงานใหญ่และสถานประกอบการ ซึ่งผลการตรวจค้นพบว่ามีการนำสินค้าประเภทซากสัตว์ ประเภทสุกร เครื่องในโค และตีนไก่ เข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.63 ถึงวันที่ 31 ม.ค.67 รวม 3,469 ตู้ โดยให้บริษัทที่เป็นเครือข่ายนำเข้ามาและอ้างว่าได้โอนให้กัน เพื่อใช้สิทธิด้านภาษีอากรขาเข้า และเมื่อนำเข้ามาแล้ว ไม่ได้ทำการผลิตใหม่ตามที่กรมศุลกากรกำหนด แต่นำออกไปจำหน่ายให้กับบริษัทจำหน่ายอาหารสดในประเทศไทย จากนั้นนำมาขอลดอากรทำให้เกิดความเสียหายด้านภาษีศุลกากร เฉลี่ยประมาณตู้ละ 400,000 หากนำมาคูณกับจำนวนตู้สินค้าจำนวน 3,469 ตู้แล้ว จะพบว่าเกิดความเสียหายด้านภาษีศุลกากร จำนวน 1,387,600,000 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างมหาศาล
และยังพบว่า มีบัญชีค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นรายเดือน และเป็นรายตู้อีกด้วย รวมทั้งยังมีบัญชีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปลัด นักข่าว บริเวณจังหวัดชายแดนที่บริษัทมีการส่งสินค้าข้ามแดนและรับสินค้าข้ามแดนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้สิทธิด้านภาษีอากรก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบริโภคสินค้าของผู้ประกอบการภายในประเทศ ไม่สามารถแข่งขันในราคาที่เป็นธรรมได้ในด้านราคาที่ถูกกว่า เนื่องจากไม่ต้องชำระภาษีอากร และเป็นการทำให้ผู้ค้าภายในประเทศเกิดความเสียหาย และต้องเลิกกิจการไปจำนวนหลายราย ก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั่วประเทศ จึงได้ขอนุมัติต่อศาลอาญา เพื่อจับกุมบุคคลดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ 2 มาดำเนินคดีอาญา และเรียกคืนภาษีที่ขาดหายไปดังกล่าว