ไทยยังไม่พบป่วย โรคไข้นกแก้ว เฝ้าระวังหลังระบาดหลายประเทศในยุโรป หมอชลน่านชี้ไม่ใช่โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ มียารักษา อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง
ไข้นกแก้ว หรือโรคซิตตาโคซิส พบหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย วันนี้ (8 มี.ค.67) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคไข้นกแก้ว เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ยาก แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และมียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ เชื้อโรคนี้มักจะก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น นกแก้ว ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทย เคยมีการรายงานจากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีก ว่าพบเชื้อแบคทีเรียนี้เช่นกัน
โรคไข้นกแก้ว เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน คล้ายๆ ไข้หวัดนก แต่ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน รวมถึงโรคนี้ไม่แพร่กระจายโดยการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากนกที่ติดเชื้อ ผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมาจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนของนกที่ติดเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ บางรายอาจมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ในระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่พบการระบาดหรือการติดเชื้อของโรคดังกล่าว และประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ เพื่อประสานข้อมูล และร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ จะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังว่ามีโอกาสแพร่กระจายมาสู่เมืองไทยได้หรือไม่ ทั้งกรณีนกแก้วอพยพ ขณะที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก็จะเฝ้าระวังการนำนกแก้วหรือคนที่เป็นโรคที่จะเข้ามาประเทศไทย ซึ่งสัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยลักษณะอาการของสัตว์ป่วยได้
นพ.ชลน่านกล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก หากสามารถเฝ้าระวังไม่ให้มีการเอานกแก้วจากแหล่งที่มีการแพร่ระบาดเข้ามา ก็จะเป็นการป้องกันได้ โดยเลือกซื้อนกเลี้ยงจากร้านขายสัตว์เลี้ยงที่น่าเชื่อถือและมีสุขอนามัยที่ดี ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อในนก ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย