“นายกฯ” ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์เมียนมาอย่างใกล้ชิด มีแผนรองรับทุกสถานการณ์ เผยข้อมูลการเจรจา เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคำนึงหลายฝ่าย
ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (9 เม.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวสั้นๆถึงสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงไปเมื่อเช้าก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเรามีการทำงานกัน แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ข้อมูลการเจรจา เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องคำนึงถึงหลายฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมครม. นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมด่วนประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา รวมถึงกรณีเครื่องบินพาณิชย์เมียนมาลงจอด ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมี พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีการตั้งคณะทำงาน ให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบหลัก โดยมีเลขาธิการสำนักงานความมั่นคงทำงานร่วมด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศทั้งประเด็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สรุปผลการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบในประเทศเมียนมา และการลงจอดของเครื่องบินพาณิชย์เมียนมา ที่สนามบินแม่สอดว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีประชาชนชาวเมียนมาที่หนีภัยสงครามเข้ามาประเทศไทย แต่อาจจะมีเดินทางเข้ามาบ้างประปราย
สำหรับเรื่องเครื่องบินที่มีการขอลงจอดที่สนามบินแม่สอด ปกติเรื่องนี้ที่มีการขอมาเป็นประจำ ซึ่งครั้งนี้เป็นเครื่องบินพาณิชย์ ที่ไม่ใช่เครื่องบินทหาร ซึ่งโดยปกติหากมีการขออนุญาตที่ถูกต้อง ทางกระทรวงต่างประเทศก็จะออกใบอนุญาตให้บินเข้ามาได้ ซึ่งครั้งนี้เป็นการขออนุญาตมาจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศเมียนมา ประจำประเทศไทย โดยระบุว่าเป็นการขอความร่วมมือ เพราะอาจจะมีประชาชนได้รับผลกระทบ จึงมีความจำเป็นที่ต้องขอความช่วยเหลือประเทศไทย ในเรื่องของมนุษยธรรม โดยตอนแรกได้ร้องขอบินเข้ามา 3 ครั้ง เพราะคาดว่าจะมีประชาชนชาวเมียนมามีเข้ามาเยอะ อย่างไรก็ตามสุดท้ายก็ไม่ได้มีมาเยอะ เพราะอาจจะมีการเจรจากันระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้กัน
ยืนยันว่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นการค้นเอกสารราชการ ซึ่งโดยปกติในทางการทูตเราไม่สามารถไปตรวจสอบได้ว่าเป็นเอกสารประเภทไหน เพราะ อาจเป็นเอกสารที่เป็นความลับทางราชการ แต่อย่างไรก็ตามมีการตรวจสอบชายแดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนเดินทางมาที่สนามบิน ยืนยันว่าไม่มีอาวุธ กำลังพล ทหาร และตามรายงานที่แจ้งมาก็ไม่มีการขนเงินตราเข้ามา เป็นเรื่องมนุษยธรรมอย่างเดียว ซึ่งเมื่อมีจดหมายเข้ามาก็ได้มีการประชุมในส่วนสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีก็รับทราบเรื่องนี้อยู่ตลอด
ที่ผ่านมาได้เตรียมแผนรองรับมาเป็นเวลานานแล้ว และสามารถรองรับชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบกว่า 1 แสนคน เป็นการชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตามหากมีประชาชนเข้ามามากกว่า 1 แสนคน ก็จะต้องมีการเจรจากับต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วย จากประเทศไทยไม่สามารถช่วยเหลือได้เพียงลำพัง
นายปานปรีย์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการชักศึกเข้าบ้าน เพราะไม่ได้เป็นเครื่องบินทหาร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่มีประเด็น
อย่างไรก็ตามมีความเป็นห่วงเรื่องการค้าชายแดน โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สอด ที่การค้าขายลดลงไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ต้องมีการเตรียมพร้อมหากเกิดต้องปิดชายแดน แต่วันนี้ยังไม่ปิด ข้าราชการกรมศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองยังทำงานปกติ ซึ่งในอนาคตการค้าใช้ในเส้นทางแม่สอดไม่สามารถใช้ได้ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเส้นทางไปที่ระนอง
ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการเจรจากับเมียนมา นายปานปรีย์ ระบุว่า การเจรจาต้องเจรจาครบทุกกลุ่ม เนื่องจากเวลานี้มีหลายกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำ อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นกลางในเรื่องนี้ และมีความประสงค์ที่อยากจะให้เกิดสันติสุขในประเทศเมียนมา เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งต้องเร่งหาทางให้เกิดการเจรจา เพื่อให้การสู้รบยุติลง
ในขณะที่มีความเป็นห่วงเรื่องผู้อพยพ เพราะอาจจะทำให้ชาวเมียนมาทั้ง 2 ฝ่ายมาเจอกัน ก็อาจจะเกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในเขตประเทศไทยได้ นายปานปรีย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและหน่วยความมั่นคง จะเป็นหน่วยงานที่รู้ ว่าชาวเมียนมาที่เข้ามาเป็นกลุ่มไหน เพราะฉะนั้นการนำ กลุ่มชาติพันธ์ที่ไม่ถูกกัน หรือนำบุคคลของรัฐบาลมาอยู่ร่วมกัน ก็อาจจะมีปัญหาได้ เชื่อว่ารัฐบาลสามารถแยกแยะได้