นายกฯ แถลงชัด 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต ได้แน่ปลายปี 50 ล้านคน

View icon 397
วันที่ 10 เม.ย. 2567 | 16.10 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - นายกฯ แถลงชัดแล้ว เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ได้แน่ ๆ 50 ล้านคน ปลายปีนี้ เงื่อนไขต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท โดยใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท

นายกฯ แถลงชัด 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต ได้แน่ปลายปี 50 ล้านคน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่ารัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรค ทำตามสัญญา และที่สำคัญ เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยร้านค้าและประชาชน จะลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) และเงินจะส่งถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) ของปีนี้

ส่วนรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี โดยให้สิทธิประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท และใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจร้อยละ 1.2-1.6

แจง 3 แหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ต้องกู้
ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณในปี 2567 และปี 2568 ควบคู่กันไป แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่ 2 มาจากการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ

ส่วนที่ 3 มาจากการบริหารงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลเอง จำนวน 175,000 ล้าน รวมถึงงบประมาณกลาง ก็อาจนำมาใช้ถ้าเงินไม่พอ

รวมทั้ง 3 ส่วน เป็นเงิน 5 แสนล้านบาท ยืนยันมีเงิน 5 แสนล้านบาทในการเริ่มโครงการ

เปิดเกณฑ์ 3 ข้อ ผู้มีสิทธิรับเงิน 10,000 บาท ดิจิตัลวอลเล็ต
ส่วนเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แจกแจงว่า กลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน เป็นผู้มีอายุเกิน 16 ปี ในวันที่ลงทะเบียน รายได้ต่อปีภาษีไม่เกิน 840,000 บาท มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขการใช้จ่ายนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประชาชนนำไปใช้ได้กับร้านค้าขนาดเล็ก ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น ส่วนร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดพื้นที่และขนาดของร้านค้า ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม ร้านค้าที่ถอนเงิน ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น และการถอนเงินสด ถอนทันทีไม่ได้ ต้องถอนหลังจากใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงทุจริต และเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ศิริกัญญา" สงสัยร้านสะดวกซื้อ เข้าข่ายร้านขนาดเล็กหรือไม่
หลังการแถลงของนายกฯ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า การแถลงครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นไปตามที่ตนคาดก่อนหน้านี้ ว่าเงินจะมาจาก 3 แหล่ง

ส่วนรายละเอียดของการใช้จ่าย มีการแก้ไขในทางที่ดี ที่ระบุว่าให้ใช้จ่ายรอบแรกสำหรับร้านค้ารายเล็กเท่านั้น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าร้านสะดวกซื้อ เข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือไม่

และกลไกที่ค่อนข้างยุ่งยากในการแลกเป็นเงินสด คือต้องใช้ 2 รอบ แล้วจึงสามารถแลกเป็นเงินสดได้ ซึ่งร้านที่แลกได้ ก็แลกได้เฉพาะที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น อาจจะทำให้ร้านค้ารายเล็กรายย่อยตัวจริง ไม่อยากเข้าร่วมโครงการ หรือเข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่ เพราะแลกมาแล้วก็ยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ก็ต้องไปใช้จ่ายต่อ แต่เงินก็ต้องหมุนไปรายวัน จะมีความลำบากสำหรับร้านค้ารายเล็ก

และหากสุดท้าย ร้านค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการได้น้อย วัตถุประสงค์ของโครงการจะทำให้เศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในระดับฐานรากได้มากขึ้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ