สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 189
วันที่ 17 เม.ย. 2567 | 20.06 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.33 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นำคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมคู่สมรส เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567

พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิคุ้มเกล้าฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่กองทัพอากาศ พร้อมคู่สมรส และคณะกรรมการมูลนิธิคุ้มเกล้าฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินในนามของกองทัพอากาศ และในนามของมูลนิธิคุ้มเกล้าฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567

พลอากาศโท ธัชชัย อัจฉริยาการุณ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช นำคณะข้าราชการและนักเรียนนายเรืออากาศโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567

นางโฉมยง ประทีปอุษานนท์ ทวีทรัพย์ นายกสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นำคณะกรรมการสมาคมฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567

นายทิพากร สมคะเน และทายาทและศิษย์ของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) และคณะดำเนินงานสมาคมหนังตะลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช และสมาคมสืบสานศิลปกรรมถิ่นใต้ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรูปหนังตะลุง และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย ในโอกาสนี้ พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ รองเจ้าคณะอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมเฝ้า ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และถวายวัตถุมงคลด้วย

เวลา 13.20 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังเรือนจำจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โอกาสนี้ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และผู้มีอุปการคุณ และทอดพระเนตรการแสดงของผู้ต้องขังหญิง ชุด "ระบำร่อนแร่"

จากนั้น ทรงเปิด "ห้องสมุดพร้อมปัญญา" ซึ่งกรมราชทัณฑ์ สร้างขึ้นเป็นแห่งที่ 32 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดร่วมสมัย หรือ Contemporary Library สะท้อนสังคมแบบพหุวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ชาวซิกซ์ และชาวจีนบาบ๋า หรือ เปอรานากัน อาศัยอยู่ร่วมกันได้ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังรักการอ่าน และการเขียน นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สนองพระราชกระแสที่ว่า "ถ้าสังคมไม่ให้โอกาส จะไม่มีคนดีคืนสู่สังคม"

โอกาสนี้ ได้พระราชทานหนังสือพระราชนิพนธ์ เรื่อง "กีฬาเป็นยาวิเศษ" และหนังสือ "การพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อความยั่งยืน" แก่ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ภายในห้องสมุดมีมุมบริการต่าง ๆ เช่น มุมหนังสือพระราชนิพนธ์ หนังสือพระราชทาน นวนิยาย นิตยสาร วารสาร หนังสือทั่วไป กว่า 15,000 เล่ม นอกจากนี้ ยังมีมุมสื่อมัลติมีเดีย, มุมหนังสือท้องถิ่น แสดงประวัติ วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ผู้ต้องขังได้ช่วยกันสร้างแบบจำลอง "เหมืองแร่แหล่งเรียนรู้แห่งเมืองภูเก็ต" สะท้อนความรู้ที่ได้จากการอ่าน ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน มีมุมส่งเสริมการอ่าน ให้ผู้ต้องขังบันทึกการอ่านและถอดบทเรียนจากการอ่าน บันทึกเรื่องสั้น เล่าเรื่องจากภาพ รวมถึงฝึกซ่อมหนังสือ ทำสมุดไดอารี่ ใช้การเย็บแบบกี่ เป็นการเย็บหนังสือแบบโบราณ ทำให้หนังสือคงทน รวมถึงงานแกะสลัก ไม้ฉลุ สะท้อนถึงการเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตของชุมชนชาวภูเก็ตดั้งเดิม

โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567

โดยเรือนจำฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง อาทิ ด้านศาสนา จัดโครงการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขัง "หลักสูตรสัคคสาสมาธิ", "หลักสูตรธรรมศึกษา" และโครงการอบรมจริยธรรมอิสลาม, ด้านการศึกษา จัดการศึกษานอกระบบในเรือนจำ ได้แก่ ประถมศึกษา, มัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย หลังสำเร็จการศึกษา ผู้ต้องขังสามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ระหว่างศึกษา 524 คน และมีผู้ต้องขังสำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 62 คน, ด้านการฝึกทักษะอาชีพ มีหน่วยงานต่าง ๆ มาถ่ายทอดความรู้ อาทิ การทำของชำร่วย พับเหรียญโปรยทาน, การเขียนภาพจิตรกรรมไทย, การตัดเย็บเสื้อผ้า, การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในสำนักงาน, การตัดเย็บผ้าพื้นเมือง การทำผ้าบาติก, การปักลูกปัด เพิ่มมูลค่าผ้าปาเต๊ะ, ด้านสุขภาพอนามัย ดำเนินงานตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตั้งแต่ปี 2564 จัดบริการสาธารณสุข ร่วมกับสถานพยาบาลประจำเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ดูแล ควบคุมป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม มีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ 162 คน นอกจากนี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมตลาดนัด(ตนดี) เพื่อเป็นพื้นที่สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้กับผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษ

โอกาสนี้ พระราชทานถุงของขวัญแก่ผู้แทนผู้ต้องขังชายและหญิง จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงผลงานการฝึกวิชาชีพต่าง ๆ เช่น การต่อเรือ, การประดิษฐ์ดอกไม้ไหว, นวดแผนไทย, ทำเบเกอรี่และขนมพื้นเมือง, การตัดต่อวิดีโอ, สานตะกร้าพลาสติก และงานแกะรองเท้า
   
เรือนจำจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ที่บ้านบางโจ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง เป็นเรือนจำที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเรือนจำแห่งแรก ที่สร้างมานาน 120 ปี ได้ย้ายผู้ต้องขังมาอยู่ ณ ที่แห่งใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2563 มีพื้นที่ 42 ไร่เศษ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังชายและหญิง กำหนดโทษไม่เกิน 30 ปี จำนวน 3,707 คน

ข่าวอื่นในหมวด