สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 6

View icon 120
วันที่ 29 เม.ย. 2567 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.08 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทรงเปิดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ สอวน. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึงวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ เพื่อยกระดับการศึกษาด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในหมวดวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ในด้านต่าง ๆ ทั้งทางธรรมชาติ สังคมวัฒนธรรม และการอธิบายถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ

นอกจากนี้ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสนใจ และมีความรู้ความสามารถในวิชาภูมิศาสตร์ในระดับสูง ได้ทดสอบความรู้ และมีประสบการณ์ในการแข่งขัน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้แทนประเทศไทย ไปเข้าร่วมการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20 ณ เมืองเมย์นูธ และเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดยมีนักเรียนตัวแทนจากทุกศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกทั่วประเทศ จำนวน 15 ศูนย์ เข้าร่วมการแข่งขันฯ รวม 103 คน และใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันกับการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ กำหนดให้โจทย์ในข้อสอบ และการตอบข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด มีการสอบ 3 หัวข้อ ได้แก่ ภูมิศาสตร์กายภาพ, ภูมิศาสตร์มนุษย์ และภูมิศาสตร์เทคนิค ในรูปแบบการสอบข้อเขียน การสอบภาคสนาม และการสอบแบบมัลติมิเดีย

จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการของนิสิตและคณาจารย์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ประยุกต์แนวคิดทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิจัยเชิงพื้นที่ในส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่สะท้อนกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำ ด้วยการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศศาสตร์ ที่มีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตผู้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการประยุกต์แนวคิดทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นบนโลกได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเหมาะสมกับสภาวการณ์โลกในปัจจุบัน

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง