นักธรณีวิทยาพิสูจน์ซากกระดูกช้างโบราณ ยืนยันอายุกว่า 1,000 ปี

นักธรณีวิทยาพิสูจน์ซากกระดูกช้างโบราณ ยืนยันอายุกว่า 1,000 ปี

View icon 117
วันที่ 18 เม.ย. 2567 | 18.38 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 67 ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ได้มีการพบโครงการกระดูกสัตว์โบราณขนาดใหญ่จำนวนมากเกือบ 20 ชิ้น กระจัดกระจายอยู่ในบ่อดินของเอกชนแห่งหนึ่ง โดยมีทั้งชิ้นส่วนขนาดเล็ก และใหญ่ แต่ละชิ้นมีลักษณะแข็ง คาดว่าจมอยู่ในดินมานานหลายร้อยปี กระทั่งต่อมามีการพิสูจน์ทราบในเบื้องต้นว่าเป็นกระดูกช้าง

ล่าสุดวันนี้ (18 เม.ย. 67) นักธรณีวิทยา จากกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ได้เข้าตรวจสภาพของซากโครงกระดูกดังกล่าว โดยมี น.ส.พัชราภรณ์ เยาวสุต นักวิชาการประมงปฏิบัติการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เจ้าหน้าที่จากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์, สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สมุทรสาคร)

โดย น.ส.พรรณิภา แซ่เทียน นักธรณีวิทยาชำนาญพิเศษ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลว่า ซากกระดูกนี้เป็นกระดูกของช้าง ส่วนเรื่องอายุช้างเท่าที่ดูจากโครงสร้างน่าจะเป็นช้างที่ค่อนข้างตัวใหญ่ ยังไม่สามารถระบุเพศได้ เนื่องจากโครงกระดูกช่วงเชิงกรานอยู่ไม่ครบทุกส่วน และความเก่าแก่จากที่สันนิษฐานจากความลึกที่พบ น่าจะมีอายุราว ๆ 1,000 ปี ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ เพราะซากดึกดำบรรพ์ต้องมีอายุอยู่ที่ 10,000 ปีขึ้นไป แต่การพบครั้งนี้ถือว่าเป็นการพบซากกระดูกที่ค่อนข้างมีจำนวนมาก และเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ ยังไม่เคยเจอกระดูกช้างที่เยอะเท่าตรงนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการนำโครงกระดูกแต่ละชิ้นไปทำความสะอาด ทาน้ำยา และขึ้นเป็นโครงร่าง รวมทั้งทำการตรวจพิสูจน์อย่างละเอียด เพื่อหาอายุและความเก่าแก่ที่ชัดเจนต่อไป