เปิดประวัติ “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” กรรมการ ป.ป.ช. ที่ “บิ๊กโจ๊ก” ร้อง

เปิดประวัติ “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” กรรมการ ป.ป.ช. ที่ “บิ๊กโจ๊ก” ร้อง

View icon 1.9K
วันที่ 22 เม.ย. 2567 | 15.04 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” กรรมการ ป.ป.ช. คือใคร เหตุใด “บิ๊กโจ๊ก” ยื่นคัดค้านการปฎิบัติหน้าที่

วันนี้ (22 เม.ย.67) หลังมีเอกสารหลุด อ้างว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสือขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เกี่ยวกับการพิจารณาหรือวินิจฉัยเรื่องกล่าวหาหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์และคณะตำรวจที่ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวพันกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ทุกเรื่อง เนื่องจากนายสุชาติ มีสาเหตุโกรธเคืองกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รวมทั้งได้มีการขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายสุชาติ ตั้งแต่ก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่ง และขณะดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. เป็นบุคคลที่มีประวัติและพฤติกรรมที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ อีกทั้งขอให้ส่งเรื่องของนายสุชาติ ไปยังประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของนายสุชาติ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อมูลทั้งหมด โดยพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้อ้าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนางรัตนา บุรพรัตน์ เป็นพยานบุคคลในเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ กรรมการป.ป.ช.ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นกรรมการป.ป.ช.เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2563 โดยมติที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 ลงคะแนนให้ความเห็นชอบให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียงเท่ากับได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (คือไม่น้อยกว่า 125 คะแนน) จึงเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.

โดยก่อนเป็น ป.ป.ช. นายสุชาติ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุโขทัย รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุค คสช. และเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วย ซึ่งการที่นายสุชาติ เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่งผลให้นายสุชาติ ถูกตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้น มีการตั้งตั้งข้อสงสัยว่านายสุชาติ สามารถดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ เพราะเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาก่อนซึ่งตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 11 (18) ห้าม สสและสว.ที่พ้นตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี มาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ  กระทั่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ต้องชะลอทูลเกล้าฯนายสุชาติ เป็นกรรมการป.ป.ช.

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563 นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ยืนยันตามมติเดิมคือ กระบวนการสรรหานายสุชาติ มีความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่นายสุชาติ ดำรงตำแหน่งมาก่อนหน้านี้ไม่ถือเป็นตำแหน่ง สส. หรือ สว. ไม่มีการทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงมติใดๆทั้งสิ้น 

นายสุชาติ เคยระบุเหตุที่สมัครเป็น ป.ป.ช. ว่าเพื่อต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ “ผมก็พอจะรู้ได้ว่าเรื่องไหน ถ้าส่งสำนวนของ ป.ป.ช.ไปแล้ว ศาลจะเห็นไปทางไหน ก็สามารถนำมาช่วยงาน ป.ป.ช.ได้”

ปัจจุบัน กรรมการ ป.ป.ช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่มีทั้งหมด 6 คน ตามกฎหมายคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีทั้งหมด 9 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ประกอบด้วย

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.

นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช.

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช.

นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช.

นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช.

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ กรรมการ ป.ป.ช.