“เศรษฐา” พิจารณางบฯ ซอฟต์พาวเวอร์ ย้ำคุ้มค่า-เกิดประโยชน์ คลิกออฟ มิ.ย.นี้

“เศรษฐา” พิจารณางบฯ ซอฟต์พาวเวอร์ ย้ำคุ้มค่า-เกิดประโยชน์ คลิกออฟ มิ.ย.นี้

View icon 26
วันที่ 22 เม.ย. 2567 | 16.32 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะ คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ พิจารณางบฯ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” มอบนโยบาย 3 ข้อ ย้ำคุ้มค่า-เกิดประโยชน์ เน้นพัฒนาคน คลิกออฟ มิ.ย.นี้

ซอฟต์พาวเวอร์ วันนี้ (22 เม.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึงคณะทำงานในแต่ละด้าน ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

สำหรับวาระการประชุมที่น่าสนใจวันนี้ คือ การพิจารณางบประมาณในการจัดทำโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อส่งเสริมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” เฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน นำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน ไม่ว่าทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง แฟชั่น ศิลปะ มวยไทย และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการอบรมแม้แต่บาทเดียว

นายเศรษฐา กล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า นโยบายในแต่ละสาขา ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและคน ในช่วงของต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้น ต้องการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต โดยได้มอบนโยบายในการทำงาน 3 ข้อ คือ 1. ขอให้ทำแผนการ “รับ Register” เพื่อคัด 1 ครอบครัว 1 soft power ให้เร็วที่สุด เพื่อเราจะได้แยกความรู้ความสามารถตามความชำนาญและสาขาอาชีพ และนำคนไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งควรจะมีทั้ง Online และ Onsite ตามความสามารถ รวมถึงต้องจัด Class และวิธีการคัดเลือกผู้เข้าเรียนให้ทั่วถึง และยุติธรรม

2. ขอให้เตรียม “เนื้อหา Content” ที่จะใช้ในการ Upskill /Reskill ให้ตรงกับความชำนาญ และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ First Impression ในการเรียนรู้สำคัญมาก เราไม่อยากเห็นประชาชนสมัครเข้ามาแล้วพบว่าไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่จะสอน เราไม่อยากเห็นภาพคนเข้าโครงการ แต่เนื้อหาไม่น่าสนใจ เกิดเป็น Bad Experience และทำให้คน Drop off ไปได้ ที่สำคัญ วิธีการเรียนการสอน ต้องเข้าใจง่าย มีมาตรฐานที่ดี และ 3. การจัด Event ต้องขอให้เป็นการ “ต่อยอด” จากที่ภาคอุตสาหกรรมทำอยู่แล้ว รัฐควรพิจารณาในการต่อยอด Event ที่ทำแล้วจะช่วยขยายผลได้มาก ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น และต้องให้แน่ใจว่าการต่อยอดนั้นเป็นประโยชน์มากขึ้น มีความคุ้มค่าในการลงทุน ฉะนั้น ขอให้มีตัวชี้วัดชัดเจนว่า การมีรัฐลงทุน จะช่วยขยายผลได้อย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้เห็นชอบ ให้จัดการการอบรม OFOS โดยจะเริ่มลงทะเบียนพร้อมกันทุกหลักสูตรต้นเดือนมิ.ย.นี้ ผ่านทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ สำหรับปี 2567 ตั้งเป้าหมายที่จะอบรบออนไลน์รวมกว่า 266,400 คน และจะมีการอบรมออนไซต์กว่า 30,000 คน เช่น อุตสาหกรรมอาหารจะมีการอบรมเชฟอาหารไทย 10,000 คน มวยไทย 6,000 คนโดยประมาณ ซึ่งไม่จำกัดผู้เข้าอบรมว่าจะเป็นใคร จบการศึกษาอะไรมาก่อนหน้า ขอเพียงแค่มีความสนใจก็สามารถสมัครได้ เพื่อเป้าหมายภายใน 4 ปีข้างหน้า สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน และเป็นการสร้างงานถึง 20 ล้านตำแหน่ง ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปีในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง