กทม.สั่งขยับแผงค้าบนทางเท้าย่านบางจาก คืนพื้นที่ให้คนเดิน

กทม.สั่งขยับแผงค้าบนทางเท้าย่านบางจาก คืนพื้นที่ให้คนเดิน

View icon 353
วันที่ 29 เม.ย. 2567 | 20.51 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รองผู้ว่าฯ กทม.ติดตามการคืนพื้นที่ทางเท้าย่านบางจากโซนสุขุมวิท 95 พร้อมติดตามการแก้ปัญหาฝุ่นโครงการ Skyrise

บางจาก (29 เม.ย.2567) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระโขนง ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยสุขุมวิท 95 ย่านบางจาก ซึ่งเป็นการติดตามความก้าวหน้าต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่ทางเท้าแคบ ประกอบกับมีทางเดินขึ้น-ลงสะพานลอยคนข้ามถนน โดยผู้ค้าที่เช่าพื้นที่หน้าอาคารบริเวณปากซอยสุขุมวิท 95 ถึงปากซอยสุขุมวิท 95/1 ให้ความร่วมมือขยับแผงค้าเข้าไปภายในอาคารทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้เขตฯ ได้ทุบแท่นปูนและบันไดร้านค้าที่ยื่นล้ำกีดขวางทางเท้าออกไปแล้ว

โดยนายจักกพันธุ์ มอบหมายให้เขตฯ ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงจัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบในพื้นที่ ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าเดินทางได้โดยสะดวก ปัจจุบัน เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 86 ราย ได้แก่
1.ซอยสุขุมวิท 95 ตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 95 ถึงซอยสุขุมวิท 95 แยก 2 ผู้ค้า 58 ราย ทำการค้า ช่วงเช้า 05.00-11.00 น. และช่วงเย็น 15.00-20.30 น.
2.ซอยสุขุมวิท 101 ตั้งแต่ซอยปุณณวิถี 15 ถึงซอยปุณณวิถี 21 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-12.00 น.

นอกจากนี้ ยังติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Skyrise Avenue ซอยสุขุมวิท 64/2 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย จำนวน 4 อาคาร อาคาร D ความสูง 48 ชั้น อาคาร E ความสูง 48 ชั้น อาคาร F ความสูง 46 ชั้น และอาคาร G ความสูง 49 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ล้างทำความสะอาดล้อบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ตรวจสอบควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 28 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง 5 แห่ง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง