วิกฤติภัยแล้งเขื่อนลำตะคอง น้ำเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรเริ่มได้รับผลกระทบ

วิกฤติภัยแล้งเขื่อนลำตะคอง น้ำเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรเริ่มได้รับผลกระทบ

View icon 245
วันที่ 1 พ.ค. 2567 | 09.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วิกฤติภัยแล้งเขื่อนลำตะคอง น้ำเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรเริ่มได้รับผลกระทบ ล่าสุด น้ำแห้งจนเห็นร่องรอยถนนมิตรภาพสายเก่าที่จะไป จ. นครราชสีมา เส้นเดิมที่จมน้ำในเขื่อน

สภาพภัยแล้งที่ไม่มีฝนตกลงมาทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองลดลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง บริเวณช่วงสะพาน 2 บริเวณทุ่งหญ้าสันดอนดินท้ายเขื่อน หมู่ 13 บ้านท่างอย ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ฝนไม่ตกมานาน อีกทั้งไม่มีน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถือเป็นแหล่งต้นน้ำไหลลงมา เข้าเขื่อน ซึ่งนายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีความห่วงใยประชาชนและกลุ่มเกษตรกร ที่ใช้น้ำเนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนที่ทำเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทำสวนผลไม้ ในพื้นที่ 12 ตำบล กว่า 80,000 ไร่ ตามที่ลงทะเบียนไว้กับเกษตรอำเภอปากช่อง

ด้าน นายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนลำตะคอง กรมชลประทานสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2515 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2517 เป็นเขื่อนดินอัดแน่น บริเวณช่องเขาเขื่อนลั่น กับช่องเขาถ่านเสียด กั้นขวางลำตะคอง ซึ่งมีต้นน้ำไหลลงมาจากน้ำตกเหวสุวัต บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในพื้นที่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เขื่อนสูง 40.3 เมตร สันเขื่อนยาว 527 เมตร กว้าง 10 เมตร บริเวณอ่างเก็บน้ำมีความยาวขึ้นไปตามลำตะคอง 19 กิโลเมตร มีพื้นที่กักเก็บน้ำประมาณ 277.000 ไร่ กินพื้นที่ ต.หนองสาหร่าย ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กว่า 10 หมู่บ้าน สามารถรับน้ำจุได้ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร  ซึ่งในฤดูฝนปีนี้ มีปริมาณฝนตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย จึงทำให้น้ำในเขื่อนลดลงมาก จนเกิดเป็นสันดอนดินโผล่ขึ้นมาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ กว่า 1 แสนไร่

นายอำนาจ วรรณมาโส หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ในปัจจุบัน เหลือน้ำในเขื่อนที่ใช้ได้ประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 1 ใน 3 ของความจุ หรือเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าลดลงมากในรอบ 52 ปี ซึ่งในแต่ละวัน เขื่อนได้ปล่อยน้ำลงไปเพื่อหล่อเลี้ยงประชาชนที่อยู่ไต้เขื่อน ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ และเมืองนครราชสีมา วันละ 250,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้ประชาชนและสัตว์เลี้ยงได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค เนื่องจากอากาศร้อนมาก ทำให้น้ำละเหยอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม หากอีก 1 เดือนข้างหน้าไม่มีฝนตกลงมา น้ำในเขื่อนก็ยังมีน้ำเหลือ แต่ก็น่าเป็นห่วง สัตว์น้ำก็ได้รับผลกระทบ การขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด กว่า 300 ชนิดเช่น ปลานิล ปลาหมอเทศ ปลาช่อน ปลาแขยง ปลาเนื้ออ่อน ปลาบึก ปลาตะโกก ปลาสร้อย ปลาขาวหางแดง ปลาตะเพียนขาวหางแดง ปลาชะโด   ปลาบู่ โดยปลาส่วนหนึ่งนำมาปล่อยและปลาตามธรรมชาติอีกหลากหลายชนิด และยังมีกุ้งชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ จะสูญพันธุ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง