วันนี้ (21 พ.ค. 67) จากกรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบินที่ SQ321 ซึ่งเดินทางมาจากสนามบินฮีโธรว์กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศสิงคโปร์ ได้ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 15.51 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยตรวจสอบพบว่าเครื่องบินได้ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหลายรายและมีผู้เสียชีวิต
เรือเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โดยปกติแล้วการเดินทางด้วยเครื่องบินมีโอกาสที่จะเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนหรือที่เรียกกันว่าการตกหลุมอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนขณะโดยสารเครื่องบินมากยิ่งขึ้น
ซึ่งโดยปกติแล้วนักบินก็จะทำการแก้ไขให้สามารถเดินทางไปได้อย่างปลอดภัย แต่หากขนาดเกิดตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ก็จะถูกแรงเหวี่ยงให้ลอยขึ้นและตกลงมาสู่พื้นห้องโดยสาร ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ จึงขอเตือนให้ผู้ที่ต้องโดยสารเครื่องบินในระหว่างเดินทางเมื่อนั่งอยู่กับที่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
ในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้รับรายงานรายงานจากศูนย์นเรนทร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ว่ามีเครื่องบินขอลงจอดฉุกเฉิน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ประกาศแผนฉุกเฉิน และมีการประสานงานประสานงานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 จ.สมุทรปราการ ประสานขอรถพยาบาลจากหน่วยในพื้นที่ของจังหวัดเข้าสนับสนุน และประสานส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาล
หลุมอากาศเกิดขึ้นได้ยังไง?
1. เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบิน บินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรดกับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งสาเหตุข้อนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ กระแสลมกรด (Jet Stream) คือ แถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส (แนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์กับชั้นสตราโตสเฟียร์)
โดยพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูงและปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและมักจะเกิดร่วมกับกระแสลมกรด เรียกว่า “บริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส” (Clear air turbulence: CAT)
2. เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สาเหตุข้อนี้สามารถคาดการณ์ได้ และโดยส่วนใหญ่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักบินจะเตือนผู้โดยสารให้ทราบ
3. พายุ ฝนฟ้าคะนอง สาเหตุข้อนี้สามารถตรวจพบได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงไม่บินไปใกล้ได้
หลุมอากาศมี 3 ระดับ
1. หลุมอากาศระดับเบา (Light Turbulence) ทั้งลูกเรือและนักบินจะมีการสื่อสารกัน หากต้องทำการเสริฟอาหารในระหว่างนี้ หากรุนแรงมากขึ้นก็จะทำการเปิดสัญญาณให้ทุกคนคาดเข็มขัด เพื่อความปลอดภัย
2. หลุมอากาศระดับกลาง (Moderate Turbulence) จะสั่นแรงเพิ่มขึ้นมา หากไม่คาดเข็มขัด หรือเดินอยู่บริเวณทางเดินอาจจะสั่นจนตัวลอยขึ้นมาได้ เพื่อความปลอดภัยควรหาที่สามารถนั่งได้ใกล้เคียง และคาดเข็มขัดให้เร็วที่สุด
3. หลุมอากาศระดับรุนแรง (Severe Turbulence) จังหวะนี้ต้องรีบคาดเข็มขัดโดยเร็ว เพราะความรุนแรงนั้นอาจทำให้ของหล่นกระจัดกระจาย หรือหากไม่คาดเข็มขัดตามสัญญาณ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ไม่มากก็น้อย