องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่จังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ

View icon 399
วันที่ 23 พ.ค. 2567 | 20.07 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เริ่มจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี รับเด็กและเยาวชนควบคุมตัวตามคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ใน 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร มีเด็กและเยาวชนในความดูแล 122 คน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวเรือ ให้บริการด้านสุขภาพ มีเด็กป่วยจิตเวช 15 คน หากต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางจะส่งไปที่โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีเด็กและเยาวชนชาย-หญิง ในความดูแล 206 คน ส่วนใหญ่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มีการตรวจสุขภาพประจำปี, จัดกิจกรรมเพื่อการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูและให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช จำแนกและเข้าสู่การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามโปรแกรมบำบัดยาเสพติดของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวเรือ โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งการตรวจหาเชื้อ HIV และซิฟิลิส

ที่โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณฯ อำเภอเมือง เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 280 เตียง ให้บริการด้านสุขภาพแด่พระสงฆ์สามเณร และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ดูแลเด็กและเยาวชน ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 ปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนฯ ไปรักษาไม่มาก เนื่องจากมีแพทย์เข้าไปให้บริการฯ ในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,188 เตียง มีศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษ 5 ด้าน ได้แก่ โรคหัวใจ, มะเร็ง, อุบัติเหตุ, ทารกแรกเกิด และการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำกลางอุบลราชธานี จัดมุมปันสุขสำหรับเป็นห้องพักคอย ก่อนส่งตัวไปตรวจตามอาการ ส่วนใหญ่ป่วยเป็นวัณโรค, โรคระบบทางเดินอาหาร และผู้ป่วยเบาหวานไปรักษาแผล

และที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี ควบคุมผู้ต้องขังกำหนดโทษไม่เกิน 30 ปี มีผู้ต้องขังชาย-หญิง รวม 4,735 คน มีการดำเนินงานด้านสุขภาพ อาทิ คัดกรองวัณโรครายใหม่ ด้วยรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลพระราชทาน, คัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก มีโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย, โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปบริการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง, ทันตกรรมเดือนละ 2 ครั้ง มีจิตแพทย์ตรวจรักษาผ่านระบบ Telepsychiatry เดือนละ 2 ครั้ง ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังป่วยจิตเวช 317 คน ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดำเนินงานตามมาตรฐานสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ผ่านเกณฑ์ทั้ง 10 ด้าน

ในช่วงบ่าย เดินทางไปตรวจเยี่ยมเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ควบคุมผู้ต้องขังกำหนดโทษไม่เกิน 15 ปี มีผู้ต้องขัง 1,900 คน ดำเนินงานเพื่อสุขภาพอนามัย อาทิ คัดกรองหาเชื้อซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี และเอชไอวี ในผู้ต้องขังใหม่ทุกราย คัดกรองมะเร็งปากมดลูก จัดทำห้องแยกสำหรับตรวจรักษาผู้ต้องขังป่วยวัณโรค มีโรงพยาบาลศรีสะเกษ เข้าตรวจโรคทั่วไป และทันตกรรม, การตรวจสภาพจิต ประเมินตรวจรักษา บริการคลินิกคลายเครียด หากผู้ต้องขังมีอาการฉุกเฉิน สามารถเข้าตรวจในรูปแบบ Telemedicine ปัจจุบันมีผู้ต้องขังป่วย 247 คน ส่วนมากป่วยด้วยโรคจิตเวช, โรคผิวหนัง, โรคระบบทางเดินหายใจ ด้านสูทกรรม จัดอาหารให้ผู้ต้องขังตามหลักโภชนาการและมีมุมปรุงอาหารอิสลาม

จากนั้น ไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 850 เตียง และเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ที่ให้การดูแลผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ โดยได้จัดให้มีห้องราชทัณฑ์ปันสุข รองรับผู้ต้องขังชายและหญิง จำนวน 2 ห้อง พร้อมกล้องวงจรปิด เฝ้าระวังความปลอดภัย ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังชาย พักรักษาตัวด้วยอาการวัณโรค 2 คน

ที่เรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังชาย-หญิง รวม 1,253 คน ดำเนินงานเพื่อสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขัง คัดกรองประเมินสภาพจิตในระหว่างต้องโทษเกิน 1 ปี ปัจจุบันมีผู้ต้องขังป่วยจิตเวช 76 คน ได้รับการดูแลรักษาทุกรายเพื่อเตรียมพร้อมก่อนพ้นโทษ โอกาสนี้ ตรวจเยี่ยมบริเวณด้านใน แดนหญิง ประกอบด้วย ห้องแม่และเด็ก มีผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ 3 คน ไม่มีเด็กติดผู้ต้องขัง ทั้งได้ตรวจเยี่ยมเรือนนอน, มุมสุขภาพราชทัณฑ์ปันสุข และห้องกักกันโรค

และที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ดูแลผู้ต้องขังภายในเรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ โดยจัดให้มีห้องราชทัณฑ์รักษาผู้ต้องขัง แยกต่างหาก ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังเข้ารับการรักษา 5 คน นอกจากนี้ มีผู้ต้องขังไปรับบริการ ล้างไตทางหลอดเลือด แบบไป-กลับ อีกจำนวนหนึ่ง

ข่าวอื่นในหมวด