โจรออนไลน์ ตำรวจปลอม-ทนายปลอม หลอกโอน 7 ล้าน

โจรออนไลน์ ตำรวจปลอม-ทนายปลอม หลอกโอน 7 ล้าน

View icon 176
วันที่ 27 พ.ค. 2567 | 12.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
งัดมุขหลอกกู้เงินออนไลน์ มิจฯมาเป็นแก๊ง ตำรวจปลอม ทนายปลอม สร้างเรื่องว่าเงินกู้ถูกโอนไป ตปท.  ให้เทรดหุ้นโจมตีดึงเงินกู้กลับคืน สุดท้ายสูญ 7 ล้าน กระทรวงดีอีเผยแจ้งความออนไลน์ อายัดบัญชีแล้วกว่า 4,700 ล้าน

วันนี้ (27 พ.ค.67) นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 23 – 26 พ.ค.67 ศูนย์ AOC 1441 รายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 คดี เสียหาย 7,106,580 บาท

คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ เสียหาย 7 ล้านบาท ผู้เสียหายได้แจ้งความออนไลน์ คดีโดนหลอกลวงเงินกู้ผ่านช่องทาง Facebook ปลอม ชื่อเพจ “ตำรวจสอบสวนกลาง” มิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปอศ.5 ที่ดูแลคดี และให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line เพื่อพูดคุยกับทนายความ (ปลอม) โดยแจ้งว่าเงินกู้ของผู้เสียหายได้ถูกโอนออกไปต่างประเทศแล้ว ตำรวจ (ปลอม) แนะนำให้ทำการเทรดหุ้นเพื่อโจมตีและดึงเงินกู้กลับคืนมา ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามคำแนะนำ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
           
คดีที่ 2 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 276 บาท โดยผู้เสียหายเข้าเพจกลุ่ม Facebook ชื่อเพจ “รับหิ้ว - ขายของเชียงใหม่” พบเห็นสมาชิกชื่อ ”เจ้าอ้วน” ลงประกาศรับหิ้วพิซซ่า ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามพูดคุย มิจฉาชีพแจ้งว่า โพรโมชันพิชซา ราคา 98 บาท ต่อถาด รับหิ้ว 2 ถาด รวมค่าหิ้วในราคา 276 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินชำระเต็มราคา ภายหลังการโอนเงินได้ทักไปสอบถามหลักฐานการสั่งซื้อพิซซ่า แต่ไม่ได้รับการตอบกลับและไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง
           
คดีที่ 3 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 22,000 บาท ผู้เสียหายสนใจรถไถนามือสองไว้ใช้งาน จึงค้นหาผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อเพจ “ขายรถไถนาเดินตามมือสอง” โดยทักไปสอบถามพูดคุยตกลงราคาซื้อขายกันพร้อมนัดหมายวันรับสินค้า ภายหลังการโอนเงินชำระเต็มราคาเรียบร้อยแล้ว มิจฉาชีพติดต่อกลับมาแจ้งว่าต้องมีการค่าดำเนินการอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก แต่ผู้เสียหายไม่ได้โอนเงินไป ผู้เสียหายจึงเชื่อว่า ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
           
คดีที่ 4 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการฯ มูลค่าความเสียหาย 16,064 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายสนใจแลกเปลี่ยนเงินสกุลไทยเป็นสกุลต่างประเทศ เงินสกุล “หยวนจีน” ผ่านเฟซบุ๊ก จึงได้ทักข้อความสอบถามราคาอัตราแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย และตกลงซื้อขายกัน ภายหลังการโอนชำระเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
           
คดีที่ 5 หลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 68,240 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ อ้างตนว่าติดต่อมาจากกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดแพร่ แจ้งว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินบำนาญจากภาครัฐคืน เดือนละ 15,000 บาท เป็นประจำทุกเดือน โดยให้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line พร้อมส่ง QR Code ให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามคำแนะนำ ภายหลังผู้เสียหายเช็กยอดเงินในบัญชีของตน พบว่าได้ถูกโอนออกไปและไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
         
ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66 ถึงวันที่ 24 พ.ค. 567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 671,007 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,257 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 161,951 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 988 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 49,674 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.68 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 36,102 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 22.29 (3) หลอกลวงลงทุน 28,430 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.55 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 12,958 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.00 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 10,814 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 6.68 (และคดีอื่นๆ 23,973 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.80)
4. ยอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย.66 – 3 พ.ค.67) ข้อมูลจาก ตร. (บช.สอท) รวมทั้งประเทศ ยอดขออายัด 9,943.9 ล้านบาท ยอดอายัดได้ 4,754.2 ล้านบาท อายัดได้ ร้อยละ 47.81

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441