ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมกดดันคนไทยป่วย “โรคซึมเศร้า-วิตกกังวล” พุ่ง แซงจำนวนผู้ป่วยติดยาเสพติด ส่งผลผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นเกินค่าเฉลี่ยระดับโลก

ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมกดดันคนไทยป่วย “โรคซึมเศร้า-วิตกกังวล” พุ่ง แซงจำนวนผู้ป่วยติดยาเสพติด ส่งผลผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นเกินค่าเฉลี่ยระดับโลก

View icon 156
วันที่ 27 พ.ค. 2567 | 16.02 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อัตราฆ่าตัวตายคนไทยในปี 2566 อยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน สูงใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

วันนี้ (27 พ.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์   แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ด้านแรงงานทรงตัว หนี้สินครัวเรือน (ไตรมาสสี่ ปี 2566) ชะลอการขยายตัว และ คุณภาพสินเชื่อปรับลดลงในทุกประเภทสินเชื่อ มีการร้องเรียนของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง และ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 

สำหรับปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 และ เพิ่มเป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยระหว่างวันที่ 1 ต.ค.66 - 22 เม.ย.67 พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20% และ เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา

และ จากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดัน ส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้นในปีงบประมาณ 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวล และ โรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ รวมกัน

ส่วนการฆ่าตัวตาย ในปีงบประมาณ 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน สูงใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)