สำนักสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งของสิงคโปร์ เผยผลการสอบสวนเบื้องต้น เหตุเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง
30 พ.ค.67 สำนักงานสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งสิงคโปร์ (TSIB)เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้น หลังดึงข้อมูลจากเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน (FDR) และเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน (CVR) ของเครื่องบินสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ "SQ321" ที่ประสบอุบัติเหตุตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ภายใต้ความร่วมมือของตัวแทนคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ (NTSB) สำนักบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) และบริษัทโบอิ้ง พบว่า เมื่อช่วงเวลา 07.49 น. ของวันที 21 พ.ค. 67 ขณะที่เครื่องบินกำลังบินผ่านทางตอนใต้ของเมียนมา ที่ความสูงระดับ 37,000 ฟุต ซึ่งน่าจะบินผ่านพื้นที่ที่มีการไหลเวียนของอากาศที่กำลังทวีกำลังแรง ซึ่งแรงโน้มถ่วง (G) ที่บันทึกเป็นความเร่งในแนวดิ่ง มีความผันผวน ระหว่างค่าบวก (+ve) 0.44G และ +ve 1.57G เป็นระยะเวลาประมาณ 19 วินาที ซึ่งอาจส่งผลให้เที่ยวบินเริ่มมีการสั่นสะเทือนเล็กน้อย
ในช่วงเวลาเดียว ระดับความสูงของเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้รับคำสั่งถึงจุดสูงสุดที่ 37,362 ฟุต แต่ระบบการบินอัตโนมัติ ได้นำเครื่องบินกลับสู่ระดับความสูงที่ 37,000 ฟุต โดย นักบินยังสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของความเร็วเครื่องบินโดยไม่ได้รับคำสั่ง จึงพยายามควบคุมความเร็วของเครื่องบิน พร้อมแจ้งเตือนสัญญาณรัดเข็มขัดนิรภัย
หลังจากนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ของแรง G ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดลอยขึ้นจากที่นั่งได้ จากนั้น ภายใน 4 วินาที มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ลอยอยู่ในอากาศตกลงมา จนป็นเหตุให้ลูกเรือ และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ
หลังจากนักบินได้รับแจ้งจากลูกเรือว่ามีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง และนำเครื่องลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างปลอดภัย เมื่อเวลา 08.45 น. พร้อมร้องขอบริการทางการแพทย์ โดยเครื่องบินใช้เวลาเดินทางมาถึงสนามบิน เพียง 17 นาที หลังเกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป