กระแสไวรัลป้ายสกายวอล์ก กทม.ฮือฮา BTS ช็อตฟีล กทม.

View icon 223
วันที่ 31 พ.ค. 2567 | 06.49 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - กระแสดรามา เปลี่ยนตัวหนังสือป้าย "Bangkok - City of Life" เป็นคำว่า "กรุงเทพฯ Bangkok" บนแนวคานของรางรถไฟฟ้า BTS กลางแยกปทุมวัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องฟอนต์ตัวหนังสือ บ้างก็ว่าแบบเดิมสวยกว่า แต่กลายเป็นไวรัล เมื่อคนแห่กันเปลี่ยนตัวหนังสือกันสนุกสนานในโลกโซเชียล และแถมด้วยการช็อตฟีลระหว่าง BTS และ กทม.

หากใครเคยเดินทางไปแถวสยาม ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร บนทางเชื่อมลอยฟ้ากลางแยกปทุมวัน คงคุ้นเคยกับภาพของป้าย "Bangkok - City of Life" กันเป็นอย่างดี เพราะเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินถ่ายรูปของคนไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมานาน แม้ป้ายจะสีซีดเพราะตาดแดดตากลม นักท่องเที่ยวก็ยังนิยมมาเช็กอิน ถ่ายภาพและโพสต์ในสื่อโซเชียล จนถูกจดจำในฐานะแลนด์มาร์กของกรุงเทพมหานคร หรือประเทศไทยด้วยซ้ำ

แต่การปรับเปลี่ยนตัวหนังสือและพื้นหลัง โดยเพิ่มอัตลักษณ์องค์กรของ กทม. โดนกระแสโซเชียลวิจารณ์อย่างหนัก ว่าทำลายความเป็นแลนด์มาร์ก ทั้งที่จุดนี้ถูกจดจำดีอยู่แล้ว การเพิ่มอัตลักษณ์ของเมือง กลายเป็นการทำลายการจดจำ ขาดความสวยงาม เชย เปลืองงบประมาณ บางคนบอกว่าชอบอันเดิมมากกว่า เพราะมีสีสันและชีวิตชีวามากกว่า โดยเฉพาะฟอนต์หรือตัวอักษรแบบใหม่ เป็นฟอนต์โบราณจนเกินไป จากนั้นจึงมีการสร้างมีมในโลกโซเชียล เมื่อมีการสร้างตัวหนังสือตามแต่ใจชอบ แปะทับป้ายกรุงเทพ คล้ายกับสมัยไวรัล มีมชื่อสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นการเรียกรอยยิ้มจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้

และต่อมา กรุงเทพมหานคร ก็ไม่ตกกระแส พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นอกจากชี้แจงที่มาฟอนต์ ว่าเป็นฟอนต์ใหม่ที่ กทม.จัดทำขึ้นภายใต้ CI (Corporate Identity หรือการออกแบบอัตลักษณ์) ของกรุงเทพมหานคร ชื่อว่าฟอนต์ "เสาชิงช้า" มีต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศ

กทม. ออกแบบและเริ่มนำฟอนต์เสาชิงช้า มาใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ทั้ง 23 สำนัก และ 50 สำนักงานเขต โดยประชาชนจะได้เห็นตัวอักษรเสาชิงช้าบ่อยขึ้นตามสื่อต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร

จากนั้น กรุงเทพมหานคร ก็สร้างมีมของตัวเองขึ้นมาบ้าง โดยเปลี่ยนตัวหนังสือในป้ายเป็นชุดคำ ที่พยายามประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง เช่น ไล่ออกข้าราชการทุจริต 29 ราย, มี Pride Clinic 31 แห่ง, บริการตรวจสุขภาพฟรี, มีสวน 15 นาทีใกล้บ้าน 100+ แห่ง, ปลูกต้นไม้แล้ว 9.4 แสนต้น, ฟองดูว์แก้แล้ว 4.7 แสนเรื่อง

แต่มีมที่คนกระหน่ำแชร์มากที่สุด คือ ข้อความว่า "ใช้หนี้ BTS แล้ว" โดยคนเข้ามาคอมเมนต์จำนวนมาก

แต่จากนั้นกลายเป็นการช็อตฟีลก็ว่าได้ เมื่อเพจ รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้แชร์โพสต์นี้ แต่เขียนแคปชันว่า "หนี้ยังไม่หมดนะครั้บบบผม" พร้อมอีโมจิหัวเราะ และใส่ #หยอกน๊าคุณน้าา

งานนี้จึงถูกชาวโซเชียลคอมเมนต์ว่า ช็อตฟีลแรงมาก, แรงมากเลยคุณน้า, พี่ก็แรงเกิน ซึ่งการหยอกด้วยทีเล่นทีจริงแบบนี้ ยังไม่มีท่าทีจากเพจกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯ ชัชชาติ ว่าจะแก้ทางยังไงต่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง