รอข่าวดี รับ "Pride Month"

รอข่าวดี รับ "Pride Month"

View icon 129
วันที่ 31 พ.ค. 2567 | 09.58 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สิ้นสุดการรอคอย? คาดวุฒิสภา จะพิจารณาและผ่านร่างกฎหมายเท่าเทียม เป็นของขวัญรับ "Pride Month"

วันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.67) "Pride Month" ช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจ เดือนมิถุนายนของทุกปี กลายเป็นเดือนสำคัญของกลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่จะเฉลิมฉลองให้กับความเป็นตัวของตัวเอง สำหรับประเทศไทยในปี 2024 สิ่งที่รอคอยก็คือ กฏหมายสมรสเท่าเทียม โดยปีนี้  สภาฯ ผ่านฉลุยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …หรือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ถือเป็นการเริ่มต้นของความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกเพศ

ขั้นตอนต่อจากนี้ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจ สว. ในการปัดตกร่างกฎหมายที่ สส. เห็นชอบ แต่สิ่งที่ สว. ทำได้คือ

หากไม่เห็นชอบ จะส่งร่างฯ กลับไปที่ สส. มีผลยับยั้งกฎหมายไว้ 180 วัน
หากแก้ไขเพิ่มเติม ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. และ สว. เพื่อพิจารณา

ล่าสุด  ได้รับการเปิดเผยจาก “ครูธัญ” นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หัวใจของงานไพรด์ คือ การตอกย้ำเรื่องสิทธิของทุกคนต้องเท่ากัน ไม่ถูกจำกัดกีดกันเพราะความแตกต่างใดๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการสมรส สิทธิในการเลือกคำนำหน้านาม การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่โอบรับความหลากหลาย นอกจากจะเป็นคุณค่าในแง่การเมือง ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ การผลักดันความเท่าเทียมทางเพศรวมถึงความเท่าเทียมในมิติอื่นๆ จึงไม่ใช่ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสังคม

สำหรับความคืบหน้าของกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ในเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะผ่านการพิจารณาในชั้น สว. จากนั้น เป้าหมายต่อไปที่พรรคก้าวไกลจะขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานกำลังทำงานกันอยู่ คือ การยื่นร่างกฎหมายแก้ไขคำนำหน้านามและการระบุเพศ หรือ “คำนำหน้านามตามความสมัครใจ” เข้าสู่สภาฯ อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม สว. ชุดรักษาการ นัดประชุมสมัยวิสามัญ ในระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายนนี้ โดยได้บรรจุร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไว้ในวาระการพิจารณาครั้งนี้ด้วย หลังจากที่ กรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส พิจารณาเสร็จแล้ว

เรียกได้ว่า การที่สภาฯ ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ครั้งนี้เป็นเรื่องจุดเริ่มต้นที่น่ายินดี ที่จะสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับ "ประชาชนทุกเพศ"  มีสาระสำคัญ จะทำให้ทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และจะมีสถานะเป็น "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีภริยา" แต่ปิดทางเพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก"

สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิงเท่านั้น แต่จะครอบคลุมทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

"สถานะทางเพศ" หมายถึง ลักษณะในเชิงสังคมและจิตวิทยาที่ใช้เป็นพื้นฐานในการแบ่งแยกกลุ่มมนุษย์ว่าเป็น "หญิง" (Feminine) " เป็นชาย (Masculine) หรือ เป็นหญิงชาย (Androgens) แบ่งเป็น "เพศวิถี" คือ ความรู้สึกรสนิยมทางเพศ รวมถึงความพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น ส่วน "อัตลักษณ์ทางเพศ" คือ การรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง แต่บางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากโครงสร้างทางร่างกายเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คนข้ามเพศ"

"คนข้ามเพศ" อาจเป็นผู้ที่ไม่สามารถกำหนดให้ตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงเพียงเพศใดเพศหนึ่งได้ ด้วยคนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกตามเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้แก่ เกย์ (Gay) เลสเบี้ยน (Lesbian) คนรักสองเพศ (Bisexual) คนข้ามเพศ (Intersex) และคนมีเพศกำกวม (Queer)

คนกลุ่มนี้ยังมีปฏิสัมพันธ์ในมิติอื่น ทั้งความรัก ความสัมพันธ์ และการยอมรับทางกฎหมายและสังคม นำมาสู่การเรียกร้องความเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชน คือ "สมรสเท่าเทียม" ไม่ต่างจากคู่รักชายหญิง

สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิงเท่านั้น แต่จะครอบคลุมทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง