เด็ก 10 ขวบ สูบบุหรี่ไฟฟ้ากันแล้ว หมอรามาฯ เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้าใช้สารนิโคตินใหม่ เกลือนิโคติน สูบง่ายอันตรายเทียบเท่าเฮโรอีน
วันงดสูบบุหรี่โลก วันนี้ (31 พ.ค. 67) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของไทย ว่า เปรียบเสมือนสึนามิที่กำลังทำลายล้างเด็กไทย ขณะนี้พบเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันแล้ว เพราะรูปลักษณ์ภายนอกที่ลวงตาของบุหรี่ไฟฟ้าที่ดึงดูดเด็ก ๆ เป็นรูปการ์ตูน มีกลิ่นหอม โดยไม่รู้เท่าทันว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีสารนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดสูงเทียบเท่าเฮโรอีน และยังออกฤทธิ์ทำลายสมองเด็ก ทำให้เด็กมีปัญหาการเรียนรู้ คิดช้าลง ความจำแย่ลง ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาบกพร่อง และควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ซ้ำยังเสี่ยงต่อการไปใช้สิ่งเสพติดอื่น ๆ เช่น กัญชา ยาบ้า
“บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยต่อเด็กและเยาวชน และขอฝากไปถึงรัฐบาลให้คงกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย และห้ามลักลอบซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทยที่จะป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน”
ด้าน พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ รูปการ์ตูน หรือ ทอยพอต ใส่สารนิโคตินแบบใหม่ เรียกว่าเกลือนิโคติน ที่ทำให้เด็กยิ่งสูบง่ายขึ้น ไม่แสบคอเหมือนสูบบุหรี่ธรรมดา ยิ่งทำให้เด็กติดนิโคตินง่ายและรุนแรงขึ้น จากงานวิจัยที่ติดตามวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลา 4 ปี พบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเสี่ยงต่ออาการหอบหืดกำเริบเพิ่ม 1.8 เท่า เสี่ยงต่อโรคหลอดลมอักเสบเพิ่ม 2.1 เท่า และเสี่ยงต่ออาการหายใจลำบากเพิ่ม 1.8 เท่า นอกจากนี้แม้จะไม่สูบเองแต่อยู่ใกล้ชิดคนที่สูบก็เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากเป็นเด็กอาการจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่
รศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ปกครองควรมีความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ความหลากหลายของอุปกรณ์ ผลจากสารเคมีที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ข้อมูลกับเด็กหรือวัยรุ่นได้ รวมทั้งผู้ปกครองควรเปิดใจรับฟังเด็กที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เข้าใจที่ถึงสาเหตุที่เด็กใช้ สิ่งที่เด็กยังเข้าใจไม่ถูกต้อง มีเวลาใกล้ชิดที่จะพูดคุย สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ที่เปลี่ยนไป หากิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย รวมถึงกิจกรรมที่ทำให้มีความมั่นใจ รู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง หากพบว่าเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว แนะนำให้พูดคุยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการหยุด ถามถึงข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และช่วยให้เด็กหยุดใช้ด้วยตนเอง ร่วมกับครอบครัวสนับสนุนด้วยความรักความเข้าใจ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเด็กและวัยรุ่นได้