วันนี้ (08 มิ.ย. 67) นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน รฟท. เดินทางไปร่วมประชุมกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (LAO NATIONAL RAILWAYS) เพื่อเตรียมความพร้อมกำหนดเปิดเดินขบวนรถ ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการขยายความร่วมมือในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และขนส่งสินค้าของทั้งสองประเทศ ตลอดจนยกระดับระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า การเดินทางไปร่วมประชุมฯ ของนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟฯ และคณะผู้แทนการรถไฟฯ กับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ ได้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ก่อนที่จะเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบในช่วงเดือนก.ค.นี้
ทั้งนี้ ในการหารือดังกล่าว ได้มุ่งเน้นใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.แผนการเปิดเดินรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รวมถึงแผนการทดลองเดินรถเสมือนจริง ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 13-14 ก.ค.67 2.แผนพัฒนาตลาดด้านการท่องเที่ยว 3.แผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และ 4. การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง ไทย-ลาว-จีน โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อหารือด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน/ผ่านแดนร หว่างประเทศ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้ความรู้ในการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ในด้านปฏิบัติการเดินรถมาโดยตลอด ทั้งด้านพนักงานขับรถ พนักงานสถานี และพนักงานขายตั๋ว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้ร่วมมือกันทำการทดลองและทดสอบการเดินขบวนรถไฟ ระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายเอกรัช กล่าวว่า การเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่สามารถเปิดเดินรถถึงสถานีท่านาแล้ง (สปป. ลาว) และเมื่อสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะก่อให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างมหาศาล
โดยสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่น ซึ่งเป็นการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของทั้ง 2 ประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และโลจิสติสก์ของภูมิภาคอีกด้วย