ตำรวจ สตม. ร่วมกับกรมการจัดหางาน จับแรงงานเถื่อนลอบเข้าเมือง เปิดร้านขายอาหารไม่ได้รับอนุญาตย่านคลองตัน

ตำรวจ สตม. ร่วมกับกรมการจัดหางาน จับแรงงานเถื่อนลอบเข้าเมือง เปิดร้านขายอาหารไม่ได้รับอนุญาตย่านคลองตัน

View icon 120
วันที่ 13 มิ.ย. 2567 | 12.37 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กก.สืบสวน บก.ตม.1 โดย พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 และ พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก. สืบสวน บก.ตม.1 บช.สตม. รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับกรมการจัดหางาน นำโดย นายสนธยา กาลาศรี ผอ.กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน และตำรวจ สน.คลองตัน ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดเช้า ภายในซอยสุขอุทิศ เพื่อตรวจสอบแรงงานข้ามชาติลักลอบทำงานในซอยดังกล่าว เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ มีแรงงานบางส่วนวิ่งหนี และปิดร้านกันโกลาหล

ผลการตรวจสอบ พบแรงงานชาวเมียนมา 5 คน ไม่มีเอกสารหนังสือเดินทาง และลักลอบทำงานขายอาหาร นอกจากนี้ยังพบชาวกัมพูชา 2 คน ลักลอบเข้าเมือง จึงได้จับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด รวม 7 คน ในเบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มผู้ต้องหาชาวเมียนมาว่า “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” และ “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะกระทำได้” ส่วนชาวกัมพูชานั้น ได้แจ้งข้อกล่าวหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” จากนั้นควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.คลองตัน ดำเนินคดีตามกฎหมาย ก่อนจะผลักดันกลับประเทศต้นทางในขั้นตอนต่อไป

พ.ต.ท.สุริยะ กล่าวว่า บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของตนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สตม. จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี