ไขมันพอกตับหยุดรักษา กลับไปดื่มทุกวันจนเป็นตับแข็ง

ไขมันพอกตับหยุดรักษา กลับไปดื่มทุกวันจนเป็นตับแข็ง

View icon 3.4K
วันที่ 13 มิ.ย. 2567 | 16.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอยกเคสผู้ป่วยไขมันพอกตับจากดื่มเหล้าเรื้อรัง หยุดรักษากลับไปดื่มทุกวันจนเป็นตับแข็ง กลับมา รพ.ด้วยอาการตาเหลือง ท้องโต ต้องเจาะน้ำในท้อง เจาะน้ำในปอด ครั้งนี้คนไข้ยอมเลิกเหล้าเด็ดขาด

เพจ Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ ให้ความรู้ด้านสุขภาพ โดยยกเคสผู้ป่วย เป็นชายสูงวัย เคยเป็นไขมันพอกตับจากดื่มเหล้าเรื้อรัง เมื่อก่อนติดตามรักษาที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นผู้ป่วยไม่มาตามนัดของหมด กลับไปดื่มเหล้ากับกลุ่มเพื่อนเกือบทุกวัน หลายปีต่อมา คุณลุงมาโรงพยาบาลด้วยอาการตาเหลือง ท้องโต ขาบวม น้ำในท้องไหลเข้าช่องปอดทำให้หายใจหอบเหนื่อย หมอตรวจพบเป็นตับแข็งแล้ว เจาะน้ำในท้องออก 10 ลิตร เจาะน้ำในปอดออก 1 ลิตร เคสนี้ หมอยังคิดในใจว่าน่าจะไม่ไหว โชคดีครั้งนี้คนไข้ยอมเลิกเหล้าเด็ดขาด และทำตามคำแนะนำหมอทุกอย่าง เพื่อน ๆ ที่ดื่มด้วยกันก็เข้าใจ เพราะเพื่อนในกลุ่มเสียชีวิตจากโรคตับหลายคนแล้ว ล่าสุดคนไข้ท้องแฟบ ขายุบบวม ค่าตับต่างๆ ดีขึ้น

วันนี้หมอขอเล่าภาวะน้ำคั่งในท้องจากตับแข็งมาให้อ่านกัน ภาวะท้องมานคือภาวะที่มีน้ำสะสมในช่องท้อง โดยแทรกอยู่ระหว่างอวัยวะต่างๆ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ เกิดจากภาวะตับแข็ง แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกเช่น มะเร็ง ติดเชื้อในช่องท้อง หัวใจวาย

ส่วนอาการของน้ำคั่งในช่องท้อง ท้องโตขึ้นอย่างชัดเจน น้ำหนักตัวขึ้น กินอาหารแล้วรู้สึกแน่น อิ่มเร็ว เพราะน้ำในช่องท้องกดเบียดกระเพาะ ถ้าน้ำในช่องท้องมาก อาจจะไปกดเบียดปอด ทำให้หายใจลำบาก หากติดเชื้อ จะมีไข้และปวดท้องร่วมด้วย

หมอจะตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยการเคาะที่หน้าท้อง ถ้าสงสัยว่ามีน้ำในท้องจะส่งตรวจอัลตราซาวด์เพื่อยืนยัน เจาะน้ำในช่องท้องมาตรวจโดยใช้เข็มเจาะ เพื่อหาสาเหตุว่าน้ำในท้องเกิดจากอะไร และดูว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วยหรือไม่

การรักษาเบื้องต้น หมอจะสั่งงดอาหารเค็ม (จำกัดโซเดียมน้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน) พิจารณาให้กินยาขับปัสสาวะ มักจะให้ยาสองตัวคู่กัน furosemide และ spironolactone โดยเริ่มจากขนาดต่ำ ๆ แล้วค่อย ๆ ปรับขนาดเพิ่มขึ้น คนไข้ต้องงดดื่มสุรา  หลีกเลี่ยงยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้ตับทำงานแย่ลง ระหว่างรักษา ควรชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ เพื่อดูการตอบสนอง

อย่างไรก็ตาม หากรักษาเบื้องต้นแล้วน้ำในท้องยังเยอะอยู่ อาจต้องมาโรงพยายาลเพื่อเจาะระบายน้ำในท้องออกเป็นระยะ เช่นทุก 2 สัปดาห์ เพื่อลดอาการแน่นท้อง ถ้าจะระบายน้ำในท้องออกปริมาณมากต่อครั้ง ควรให้สาร albumin ทางหลอดเลือดร่วมด้วย เพื่อลดผลแทรกซ้อนจากการระบายน้ำ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านตับ พิจารณาการรักษาพิเศษอื่น ๆ ต่อไป เช่น ตัดต่อเส้นเลือดเพื่อระบายความดันในช่องท้องหรือเปลี่ยนตับ ทั้งนี้ไม่แนะนำใส่สายระบายคาไว้ที่ช่องท้องแล้วปล่อยน้ำออกเองที่บ้าน เพราะเสี่ยงติดเชื้อและไตวาย