เลือก สว. เดินหน้าต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ 4 มาตราไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนคดียุบพรรคก้าวไกล และ คดีนายกฯ แต่งตั้ง “พิชิต” นัดพิจารณาต่อเดือนหน้า

เลือก สว. เดินหน้าต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ 4 มาตราไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนคดียุบพรรคก้าวไกล และ คดีนายกฯ แต่งตั้ง “พิชิต” นัดพิจารณาต่อเดือนหน้า

View icon 137
วันที่ 18 มิ.ย. 2567 | 13.17 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
คดียุบพรรคก้าวไกล และ คดีนายกฯ เศรษฐา ยังมีเวลาหายใจ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาต่อเดือนกรกฎาคม ส่วนเลือก สว.ไม่สะดุด ชี้ 4 มาตรา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (18 มิ.ย.67) ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดีสำคัญ ที่น่าสนใจดังนี้

คดีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) นั้น  ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณากำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือ ความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 3 ก.ค.67 และ กำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 ก.ค.67

คดีที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่  ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 10 ก.ค.67

และ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาประชุม ประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อวินิจฉัย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 มาตรา 36 , 40 วรรคหนึ่ง (3) , 41 วรรคหนึ่ง (3)  และ 42 วรรคหนึ่ง (3)  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรามาตรา 107 หรือไม่  โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107