สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 172
วันที่ 21 มิ.ย. 2567 | 20.21 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.52 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จลง ณ อาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม ทรงเป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ตลอดจนพิจารณาแนวทางในการดำเนินงานพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2568

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2534 เพื่อมอบ "รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์ แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในการเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี แห่งวันพระราชสมภพ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 มอบแก่บุคคล หรือ องค์กรทั่วโลก โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิทางการเมือง ที่มีผลงานดีเด่นเป็นประประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และทางด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี โดยผู้รับรางวัลจะได้รับประกาศนียบัตร เหรียญรางวัล และเงินรางวัล รางวัลละ 100,000 เหรียญสหรัฐ

ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 96 ราย ล้วนเป็นบุคคลที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย พระบิดาแห่งการสาธารณสุขของไทย และพระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย ในจำนวนนี้ มีคนไทย 4 คน และมี 5 คน ที่เคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนแพทย์ไทย 73 คน ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลไปปฏิบัติงานในต่างประเทศอีกด้วย

เวลา 14.55 น. เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการ และเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำผู้บริหาร และนักฟิสิกส์พลังงานสูงของเซิร์น หรือ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป ผู้แทนคณะกรรมการจัดงานอบรมฟิสิกส์พลังงานสูงระยะสั้นเอเซียยุโรปแปซิฟิก และคณะกรรมการโครงการความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ตามพระราชดำริ ฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลความก้าวหน้าโครงการความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต

เซิร์น หรือ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรป เพื่อวิจัยและพัฒนาทางฟิสิกส์อนุภาค หรือ ฟิสิกส์พลังงานสูงเพื่อการค้นพบอนุภาคใหม่ของวิทยาศาสตร์แนวหน้า โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นครั้งแรกในปี 2543 หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซิร์นได้ขยายขึ้นตามลำดับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ รับสนองพระราชดำริประสานงานกับหน่วยงานร่วมดำเนินงานในประเทศไทย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ทรงเป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือนานาชาติ ระหว่างไทยกับเซิร์น ณ วังสระปทุม

ซึ่งความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ ด้านงานวิจัย เช่น ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานทางด้านฟิสิกส์ของไทยกับสถานีวิจัยของเซิร์น ชื่อว่า CMS และ ALICE, โครงการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นเพื่ออาบผลไม้ และภาคีโครงสร้างพื้นฐานวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งชาติเรียกว่า eSience, ด้านพัฒนากำลังคน ได้แก่ โครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่เซิร์น, โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ เพื่อร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น, โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโท เอก และนักวิจัยไปทำงานวิจัย ณ เซิร์น

ในปี 2567 ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดอบรมฟิสิกส์พลังงานสูงระยะสั้นเอเซียยุโรปแปซิฟิก เป็นการอบรมวิชาการด้านฟิสิกส์พลังงานสูง จัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อให้นักฟิสิกส์รุ่นใหม่ได้เรียนรู้ความก้าวหน้าล่าสุดด้านฟิสิกส์อนุภาคจากนักวิจัยชั้นนำของโลก ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 12-25 มิถุนายน 2567 มีนักศึกษา 94 คน จาก 30 ประเทศ เป็นนักศึกษาไทย 5 คน การที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพ ฯ นำไปสู่การขยายความร่วมมือ สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียกับเซิร์น รวมทั้งสถาบันวิจัยทางด้านฟิสิกส์พลังงานสูงอื่น ๆ ในภูมิภาคต่อไปในอนาคต

ข่าวอื่นในหมวด