สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาส ให้คณะบุคคลเฝ้าทูลละอองพระบาท

View icon 219
วันที่ 22 มิ.ย. 2567 | 20.16 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 14.30 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ รองศาสตราจารย์จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งประเทศไทย นำศาสตราจารย์ เจนนิเฟอร์ มนูกิน (Prof. Jennifer L. Mnookin) อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน (University of Wisconsin - Madison) และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับประเทศไทย และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยฯ ครบ 175 ปี

ในโอกาสนี้ คณะกรรมการบริหารและที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งประเทศไทย ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาทด้วย

ต่อจากนั้น ทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ในโอกาสนี้คณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาทด้วย

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มความเข้มแข็งของความร่วมมือทางด้านฟิสิกส์ของนิวทริโน และส่งเสริมการดำเนินงานด้านวิศวกรรมขั้วโลก ระหว่าง 4 สถาบันในประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคไอซ์คิวบ์วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความร่วมมือระยะยาวด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จะนำมาซึ่งการวิจัยที่ล้ำสมัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และส่งเสริมการฝึกฝนบุคลากรที่มีความสามารถสูงรุ่นต่อไปในประเทศไทย ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศ

ทั้งจะเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดการศึกษาวิจัยขั้นสูง โดยบูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชาในการขับเคลื่อนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกับพัฒนาขีดความสามารถให้แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ คณาจารย์ นักวิจัย และวิศวกร ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานร่วมกัน ต่อยอดขยายขอบเขตความเข้าใจและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้นไป

ข่าวอื่นในหมวด