พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปติดตามโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ ณ เรือนจำชั่วคราวแคน้อย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเรือนจำชั่วคราวที่ควบคุมผู้ต้องขังหญิงแห่งเดียว และแห่งแรกของกรมราชทัณฑ์ ที่รับย้ายผู้ต้องขังหญิงจากเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ลดความแออัดในเรือนจำระบบปิด เตรียมความพร้อมเรื่องการฝึกวิชาชีพ ตลอดจนด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อกลับสู่สังคมได้เป็นปกติ ไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ โดยดำเนินการโครงการตั้งแต่ปี 2551 เป็น 1 ใน 5 เรือนจำนำร่อง จนถึงปัจจุบัน เป็นรุ่นที่ 17 มีผู้ต้องขังเข้ารับการอบรม 1,436 คน
จากนั้น ชมการแสดง ประกอบด้วย การแสดงระบำม้า และดนตรีโฟล์คซอง ร้องเพลง "ยังมีหวัง" ซึ่งเป็นเพลงประจำเรือนจำชั่วคราวแคน้อย แล้วมอบประกาศเกียรติคุณให้สถานประกอบการ 3 แห่ง ที่รองรับการประกอบอาชีพของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ รวมทั้งมอบรางวัลแก่เรือนจำชั่วคราวแคน้อย ที่ชนะการประกวดเรือนจำดีเด่นในโครงการกำลังใจฯ ประจำปี 2564-2565 รวม 5 รางวัล
เรือนจำชั่วคราวแคน้อย มีฐานการเรียนรู้และฝึกวิชาชีพด้านเกษตร เพื่อให้ผู้ต้องขังเกิดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพัฒนาตนเองสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน นำไปใช้ได้จริง และนำไปประยุกต์ใช้หลังพ้นโทษ อาทิ ปลูกผักปลอดสารพิษ, เลี้ยงสัตว์, ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม, ศูนย์เรียนรู้โคกหนองนาโมเดล, การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการเลี้ยงไข่ผำ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานภายนอก พัฒนาทักษะอาชีพ อาทิ ทำขนมไทย อาหารพื้นบ้าน มีฐานเรียนรู้ด้านการบริการ อาทิ ร้านอาหาร, นวดแผนไทย, เสริมสวย และล้างรถคาร์แคร์ ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก. เอส
นอกจากนี้ ยังเป็นเรือนจำแห่งแรก ที่ผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้ก้าวพลาดจากการอบรมวิชาชีพระยะสั้น ผ่านการรับรองมาตรฐานฝีมือชุมชน 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเป๋าผ้า, แผ่นรองกันร้อนจากผักตบชวา, ผลิตภัณฑ์จากไม้, พวงกุญแจประดิษฐ์จากเศษผ้า, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์โครเซต์ และผลิตภัณฑ์จากผ้าพิมพ์ลายจากพืช
ในตอนบ่าย เดินทางไปยังวิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ ที่ร่วมกับเรือนจำชั่วคราวแคน้อย มาอบรมและฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง โดยลงมือปฏิบัติจริง สามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้ รวมทั้งซ่อมแซมและปรับปรุงรถอีแต๋น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้เป็นรถนำเที่ยวภายในศูนย์เรียนรู้ เรือนจำชั่วคราวแคน้อย แก่ผู้เข้ามาศึกษาดูงาน และนักท่องเที่ยว
จากนั้น เดินทางไปยังบ้านคนต้นแบบ เลขที่ 122 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโคก เพื่อติดตามให้กำลังใจผู้พ้นโทษที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ นางจรรยา สีจันทร์ โดยนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ ทั้งเรื่องการประกอบอาชีพ ขายส้มตำ และนำเรื่องวางแผนการใช้จ่ายมาปรับใช้