รวบอดีตกรรมการบริษัท ออกใบกำกับภาษีเท็จ รัฐเสียหายสูงถึง 400 ล้านบาท

รวบอดีตกรรมการบริษัท ออกใบกำกับภาษีเท็จ รัฐเสียหายสูงถึง 400 ล้านบาท

View icon 84
วันที่ 5 ก.ค. 2567 | 15.47 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รวบอดีตกรรมการบริษัท ออกใบกำกับภาษีเท็จ รัฐเสียหายสูงถึง 400 ล้านบาท เจ้าตัวอ้าง ไม่ทราบว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริษัท

ตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกันจับกุม นางสาวกุลวดี อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย

หลังกรมสรรพากรได้มาร้องทุกข์ ที่ กก.2 บก.ปอศ. ให้พิจารณาดำเนินคดีอาญาความผิดกับ นางสาวกุลวดีฯ อายุ 35 ปี (ผู้ต้องหา) ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนที่ทำหน้าที่เรียกเก็บเงิน โดยพฤติการณ์เกิดจากเมื่อปี พ.ศ. 2556-2559 เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ ของผู้ต้องหาไม่ได้มีการเปิดกิจการตามที่แจ้งไว้ และจากตรวจสอบใบกำกับภาษีที่สำนักงานสรรพากร ระบุสินค้าเป็นประเภทเศษเหล็ก บางฉบับระบุสินค้าเป็นประเภทเศษผ้า ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการจดทะเบียนแต่อย่างใด  อีกทั้งสถานประกอบการของบริษัทฯ มีเนื้อที่เพียง 9 ตร.ม. ไม่สามารถใช้เก็บสินค้าประเภทเศษเหล็กหรือผ้าตามที่ระบุในใบกำกับภาษีได้ ประกอบกับบริษัทฯ ยื่นภาษี แบบ ภ.พ.30 แสดงยอดชำระภาษีไว้เพียงเล็กน้อย ทำให้ดูเสมือนว่ามีการประกอบการจริง

ภายหลังจากพบข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงได้มีการเชิญกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ให้มาเข้ามาพบกับทางเจ้าหน้าที่ แต่กลับไม่มีผู้ใดมาพบและไม่ส่งมอบเอกสารหลักฐานเพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบกิจการและพิสูจน์เกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีว่ามีการซื้อขายกันจริง จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่า บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการประกอบกิจการจริง เข้าลักษณะเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากรโดยรัฐได้รับความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านบาท พนักงานสอบสวนจึงได้ดำเนินการขอศาลเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าว

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า นางสาวกุลวดี (ผู้ต้องหา) จะมาปรากฏตัวบริเวณสถานที่จับกุม เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ลงพื้นที่เเละทำการจับกุมตัวผู้ต้องหา ก่อนนำตัว ผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.๒ บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ให้การว่าไม่ทราบว่าตนเองมีชื่อเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด

ท้ายนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุก ป้องกันปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้ดำเนินการหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยฉ้อโกง หรือใช้กลอุบาย ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร และฝากเตือนถึงประชาชน ห้ามขาย หรือ ให้บัตรประชาชนแก่ผู้อื่นโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ มิเช่นนั้นจะตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง