ปปง. แจงขั้นตอน ยื่นคุ้มครองสิทธิ ขอเงินคืน หลัง ปปง.เปิดรับคำร้อง ลงทะเบียนแนบหลักฐานได้ 3 ช่องทาง หากข้อเท็จจริงตรงกัน รอคดีถึงที่สุด-ศาลสั่งคืนเงิน
วันนี้ (5 ก.ค.67) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวถึงขั้นการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย จากการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ในความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ เมื่อสำนักงาน ปปง. เปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิฯ ในรายคดีที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด โดยคณะกรรมการธุรกรรม มีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด หรือในกรณีที่ สำนักงาน ปปง. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th และเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th
หากสำนักงาน ปปง. เปิดรับคำร้องฯ แล้ว ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำร้องฯ พร้อมหลักฐานภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีประกาศฯ ซึ่งผู้เสียหายที่ประสงค์จะยื่นคำร้องฯ ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน โดยข้อมูลของผู้เสียหาย พฤติการณ์กระทำผิดของคนร้าย, ช่วงเวลาที่มีการกระทำผิด, เลขคดีอาญาของพนักงานสอบสวน และ ในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชื่อบัญชีหรือเลขบัญชีธนาคาร จะต้องตรงกับข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. แล้วย่อมถือว่าเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้อง เพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิได้
สำหรับช่องทางการยื่นคำร้อง 3 วิธี ได้แก่ 1. สามารถยื่นด้วยตนเอง ที่สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด 2.ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าซองมาที่สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 และ 3. ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด โดยแนบหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาคำพิพากษาให้มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย, สำเนาหลักฐานการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญา และ สำเนาหลักฐานการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย รวมทั้งหลักฐานอื่นตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
หลังจากนั้น สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบคำร้องฯ และจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความเสียหายเสนอเลขาธิการ ปปง. เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมมีความเห็น ก่อนที่ เลขาธิการ ปปง. จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน