วันนี้ (10 ก.ค. 67) จากการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ของระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการและสาธารณชน
โดยในช่วงที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ รวม 5 เหตุการณ์ ได้แก่
- กรณีรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) หลุดร่วงเนื่องจากถูกแรงกระแทก ซึ่งเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง จากสาเหตุที่แท้จริง (Root Cause) ที่แตกต่างกัน
- กรณีที่มีชุดล้อประคองหลุดร่วง หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ใด ๆ หลุดร่วงลงมา
- ล่าสุด เหตุประตูบางส่วนของขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพูเปิดในขณะจอดนิ่งอยู่ที่สถานีลาดปลาเค้า (PK18) และมีตู้โดยสารบางตู้อยู่นอกชานชาลา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม 2567
เป็นเหตุให้คณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูขึ้น เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งระบบ รวมถึงพิจารณาเสนอแนะแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกัน และแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าฯ รฟม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ นัดแรกว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคม กำหนดให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารและสาธารณะ ไม่สามารถประนีประนอมได้
โดย รฟม. ได้สั่งการผู้รับสัมปทานหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด สามารถรับรองความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการเดินรถได้อย่างดีที่สุดต่อไป และจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เร่งปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็วที่สุด เพื่อส่งมอบทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามหานคร ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังเน้นย้ำให้ รฟม. ติดตามตรวจสอบผลการซ่อมบำรุงของผู้รับสัมปทานทุกระยะ และนำผลมาวิเคราะห์เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์ได้ทันท่วงที