องคมนตรี ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่จังหวัดชุมพร

View icon 264
วันที่ 10 ก.ค. 2567 | 20.06 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปตรวจเยี่ยมการดำเนิน "โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชุมพร อำเภอเมือง โดยมี เยาวชนคดีอาญา 178 คน ซึ่งกระทำความผิดคดีอาญาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย การดำเนินงานเพื่อสุขภาพอนามัยของเยาวชนในการควบคุม หากเจ็บป่วยจะส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขุนกระทิง และโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ด้านสุขภาพจิตและจิตเวช มีการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทุกราย หากพบว่ามีปัญหาจะส่งเข้ารับการบำบัดทันที ด้านยาเสพติด มีตรวจหาสารเสพติดทุกราย หากมีผลการจำแนกอยู่ในกลุ่มเสพ ส่งเข้ารับการบำบัดทันที

จากนั้น เดินทางไปยังเรือนจำจังหวัดชุมพร ซึ่งควบคุมผู้ต้องขังกำหนดโทษไม่เกิน 15 ปี ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังชาย-หญิง รวม 1,744 คน โดยสถานพยาบาล มีพยาบาลวิชาชีพ 3 คน, นักจิตวิทยา 2 คน และ อสรจ. 53 คน ด้านสุขภาพผู้ต้องขัง ได้รับการสนับสนุนบุคลากรด้านสาธารณสุข จากโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย มีแพทย์ เข้าตรวจรักษาโรคทั่วไป สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง, มีทันตแพทย์ เดือนละ 1 ครั้ง, ด้านสุขภาพจิต มีการคัดกรองสุขภาพจิตในผู้ต้องขังแรกรับ และประเมินสุขภาพจิตด้วยแบบคัดกรองทุกคน ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช 59 คน ได้รับการดูแลรักษาครบทุกราย, ด้านการป้องกันและควบคุมโรค มีการคัดกรองโรคเอชไอวี, ซิฟิลิส, ไวรัสตับอักเสบซี และวัณโรค ซึ่งยังไม่พบเชื้อในผู้ต้องขัง นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรมการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังโดยใช้อาชีวบำบัดและศาสนบำบัด

ต่อจากนั้น เดินทางไปยังโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอหลังสวน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ขนาด 509 เตียง ให้บริการตรวจสุขภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดชุมพร อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ในส่วนของการรักษา มีห้องสำหรับแยกรักษาผู้ต้องขังจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยและด้านความปลอดภัย 2 ห้อง แบ่งเป็น ชายและหญิง ห้องละ 2 เตียง ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังเข้ารับการรักษาโรคหมอนรองกระดูกติดเชื้อ 1 คน

จากนั้น เดินทางไปยังเรือนจำอำเภอหลังสวน ซึ่งควบคุมผู้ต้องขังเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย กำหนดโทษเหลือไม่เกิน 7 ปี ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังชาย 642 คน และผู้ต้องขังหญิง 144 คน สถานพยาบาล มีพยาบาลวิชาชีพ 2 คน, นักจิตวิทยา 1 คน และ อสรจ. 80 คน โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานเครื่องมือแพทย์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 15 รายการ สำหรับตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้น และอุปกรณ์พระราชทานในการฝึกอบรมผู้ต้องขัง ที่เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ. มีโรงพยาบาลหลังสวน เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ดำเนินงานเพื่อสุขภาพอนามัยผู้ต้องขัง อาทิ ตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชไอวี, ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบซี ในผู้ต้องขังรายใหม่ ส่วนผู้ต้องขังหญิงได้รับการคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ร้อยละร้อย

มีแพทย์ และทันตแพทย์ จากโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าตรวจรักษา เดือนละ 3 ครั้ง, ด้านสุขภาพจิต มีการคัดกรองสุขภาพจิตในผู้ต้องขังแรกรับ และประเมินสุขภาพจิตด้วยแบบคัดกรองทุกคน ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช 29 คน ได้รับการดูแลรักษาครบทุกราย

ช่วงบ่าย เดินทางไปยังโรงพยาบาลหลังสวน อำเภอหลังสวน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำอำเภอหลังสวน มีบริการตรวจรักษาด้วยระบบ Telemedicine เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง, ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษา ผู้ต้องขังไม่จำเป็นต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาล สามารถรับการวินิจฉัยและตรวจรักษาจากแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนการรักษาผู้ต้องขัง มีห้องปันสุข แยกรักษาผู้ต้องขังจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยและด้านความปลอดภัย ปัจจุบันไม่มีผู้ต้องขังป่วยเข้ารับการรักษา

ข่าวอื่นในหมวด