สนามข่าว 7 สี - ยังตามกันต่อ เรื่องปลาหมอคางดำ ล่าสุด อนุกรรมาธิการศึกษาสาเหตุ และแนวทางการแก้ไข ผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เชิญ อธิบดีกรมประมง เข้ามาถามข้อมูล เพื่อเสาะหาว่า ปลาที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ มีที่มาเดียวกันกับที่เอกชนรายหนึ่งนำเข้ามา เมื่อปี 2553 หรือไม่
จี้หา "ครีบปลาหมอคางดำ" ไปตรวจ DNA หาต้นตอระบาด
คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ที่มีนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้เชิญหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
หนึ่งในนั้นคือ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง โดยกรรมาธิการพยายามสอบถามทางอธิบดีกรมประมงว่า ตัวอย่างปลา หรือ ชิ้นส่วนของปลาที่นำเข้ามาตอนนั้นยังมีอยู่หรือไม่ เพราะเอกชนที่ถูกพาดพิง ชี้แจงแล้วว่า ได้ส่งมอบตัวอย่างปลา 25 ตัว และสมุดต้นขั้น บันทึกการนำเข้า ให้กับกรมประมงไปแล้ว
โดยเงื่อนไขสำคัญของการนำเข้า นอกจากเก็บตัวอย่างปลาแล้ว จะต้องเก็บตัวอย่างคลีบปลา โดยไม่ทำให้ปลาตาย อย่างน้อย 3 ตัว ไว้เป็นตัวอย่างด้วย จึงจะนำเข้ามาได้
เพราะตัวอย่างปลาเหล่านี้ จะเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้รู้ว่า ปลาที่ระบาดอยู่ตอนนี้ เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับที่นำเข้ามาเมื่อปี 2553 หรือไม่
ด้านอธิบดีกรมประมง ไม่ได้ให้คำตอบว่า คลีบปลายังอยู่หรือไม่ ส่วนตัวอย่างปลา 25 ตัว รองอธิบดีได้ชี้แจงไปแล้วว่า ถูกนำท่วมเสียหาย
ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า เอกชน นำเข้าปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว ผ่านด่านสุวรรณภูมิ ตนได้เรียกสมุดคุม (สมุดบันทึกประวัติการนำเข้า) แล้ว แต่ไม่มี ซึ่งบริษัทดังกล่าวอ้างว่าส่งให้แล้ว ดังนั้นจึงต้องกลับไปค้นหาที่ต้นทาง ถ้ามีก็ขอให้นำมาเปิดเผย และหาก อนุกรรมาธิการจะไปตรวจสอบที่กรมประมงก็ยินดีต้อนรับ แต่ขอให้บอกล่วงหน้า
ขณะที่ นายไผ่ ลิกค์ สส.พรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาประกาศรับซื้อ ปลาหมอคางดำ จำนวน 10 ตัน นำมาแจกในพื้นที่ ถ้าใครอยากได้ หากกลุ่มแม่บ้านอยากได้ไปทำอาหาร ปลาร้า ปลาแดดเดียว บอกได้เลย ยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาด หวั่จะทำลายระบบนิเวศสัตว์น้ำของประเทศไทย
ผงะ "ปลาหมอคางดำ" โผล่อ่าวไทยห่างชายฝั่ง 1.5 กม.
ขณะที่ชาวประมง ประมงพื้นบ้าน ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ก็ต้องผงะ เมื่อจับปลาหมอคางดำ ได้ในทะเลอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่งไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร รวม 3 ตัว แต่ระหว่างแล่นเข้าฝั่ง ปลาทั้ง 3 ตัวตาย จึงนำมาผ่าดูว่า มีอะไรอยู่ในท้องและลำไส้ของปลา
พบตัวแรกไม่มีเครื่องในแล้ว ตัวที่สองยังมีเครื่องในอยู่ และพบว่า มี "เคย" (อาหารของปลา) และลูกปลาในช่องท้อง ก่อนนำมาวัดขนาดความยาวลำไว้ เพื่อดูระบบทางเดินอาหาร
และที่ต้องผ่าท้องฯ เพราะโมโห เคยแจ้งเจ้าหน้าที่ กรมประมง ไปว่า พบปลาปีศาจชนิดนี้ อยู่ริมตลิ่งมานานนับปีแล้ว แต่ไม่สนใจ จนทั้ง "เคย" โดยเฉพาะ "ลูกปลากระบอก" ถ้าโตจับขายได้กิโลกรัมละร้อยกว่าบาท แต่ก็ถูกปลาหมอคางดำ กินเรียบ ไม่เหลือให้โต แบบนี้จะเก็บปลาชนิดนี้ไว้ทำไม
และอีกเหตุผลคือ กรมประมง ไม่เคยผ่าพิสูจน์ปลาหมอคางดำตัวเป็น ๆ จน ผอ. ศูนย์วิจัยพัฒนาและพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ ต้องบอกชาวประมงว่า ครั้งหน้าขอให้ส่งปลาหมอคางดำแบบมีชีวิต เพื่อให้ฝ่ายวิชาการทำการผ่าพิสูจน์ต่อไป