เช้านี้ที่หมอชิต - มาที่การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ วันนี้ต้องจับตาบริษัทเอกชน เข้าให้ข้อมูลกับ คณะอนุกรรมาธิการ อว. สภาผู้แทนราษฎร ถึงโครงการวิจัยที่มีหลายประเด็นสงสัยก็น่าจะได้ความชัดเจน โดยเฉพาะการหลุดรอดออกมาด้านนอกจะเกี่ยวกับการแพร่พันธุ์ ไปในหลายพื้นที่ขณะนี้หรือไม่ ส่วนข่าวที่ว่าปลาหมอคางดำ ทั้งอึด ถึก ทนสู้แดด ตัดหัวก็ยังแพร่พันธุ์ได้ ชัวร์หรือมั่ว ไขข้อเท็จจริงไปพร้อมกัน
เริ่มที่ความอึดทึกทนของปลาหมอคางดำ โดย นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ก็ตอบคำถามที่ว่า จริงไหมที่ไข่ปลาหมอคางดำ ทนต่อสภาพแวดล้อมนอกปากปลาได้นานถึง 2 เดือน และยังฟักเป็นตัวได้นั้น เรื่องนี้จากหลักวิชาการด้านประมง พบว่า พฤติกรรมของปลาหมอคางดำเป็นปลาที่พ่อปลาอมไข่ไว้ในปาก การฟักไข่ในปาก ไข่ปลาต้องได้รับความชุ่มชื้น และออกซิเจนอย่างเพียงพอ จึงเป็นสภาพที่พร้อมในการฟักลูกปลา
ดังนั้น ไข่ปลาหมอคางดำ จึงไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ หากนำไข่ปลาหมอคางดำขึ้นมาจากน้ำแล้วทิ้งไว้จนแห้งจะกลายเป็นไข่เสียทันที และยังไม่พบรายงานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำ สามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้งได้ถึง 2 เดือน แล้วกลับมาฟักเป็นตัวได้อีก
คราวนี้เมื่อนำปลาหมอคางดำขึ้นจากน้ำ ไข่ในปากของพ่อปลาที่ตายแล้วจะทนอยู่ได้ในปากประมาณ 10-15 นาที และไข่ที่ออกจากปากปลาสามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้นานถึง 1 ชั่วโมง ในกรณีไข่ปลาหมอที่ตกค้างบริเวณพื้นบ่อที่ตากไว้ และโรยปูนขาวแล้ว ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้
เช่นเดียวกับ อาจารย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อาจารย์ปอม บอกเป็นไปได้ยากมากที่ไข่ปลาตากแดดแล้วจะฟักเป็นตัวได้ แต่ก็มีข้อยกเว้น
มีคำแนะนำการขนย้ายปลาชนิดนี้ไว้ด้วย อาทิ ควรขนส่งแบบแห้ง เพื่อไม่มีไข่ปลารอดชีวิต กรณีนำปลาหมอคางดำเป็นเหยื่อหรืออาหารสัตว์แบบสด ควรใช้ปลาตาย และเช็กว่าต้องไม่มีไข่อยู่ในปาก รวมทั้งถ้านำไปทำปุ๋ยชีวภาพ หรือ เป็นอาหารสัตว์ ควรอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันการหลุดรอด
ส่วนปลาที่มีคุณสมบัติพิเศษทนต่อสภาพแห้งแล้ง คือ ปลาคิลลี่ ที่เป็นปลาขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตสั้น ตามสัญชาตญาณเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ทำให้ไข่ปลาชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ โดยในฤดูที่แห้งแล้งปลาคิลลี่จะวางไข่ไว้บนพื้นดิน และเมื่อได้รับน้ำในฤดูฝนก็จะสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับปลาหมอคางดำ
และวันนี้ (25 ก.ค.) อย่างที่เกริ่นตอนต้น ต้องจับตา บริษัทเอกชน เข้าชี้แจงกับคณะอนุกรรมาธิการ อว. สภาผู้แทนราษฎร ถึงโครงการวิจัยปลาหมอคางดำ
ที่มีข้อสงสัยหลายประเด็น ทั้งจุดประสงค์การวิจัย, การป้องกัน ไม่ให้ปลาหลุดออกไปข้างนอก และหลักฐานการทำลาย และฝังกลบซากปลาหมอคางดำ จำนวน 2,000 ตัว และนำส่งตัวอย่าง "ซากปลาหมอคางดำ" ให้กรมประมง
ล่าสุด แหล่งข่าวเผยเอกสารลับ มีการปูดข้อมูลแฉต้นตอปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์ขณะนี้ว่า เริ่มปี 2549 โดยบริษัทเอกชนใหญ่ ยก 5 เหตุผล ขอกรมประมงนำเข้าปลา 2 ชนิด จากประเทศกานา 5,000 ตัว เพื่อทดลองเลี้ยง เพาะพันธุ์ วิจัย จนกลายเป็นปลาปิศาจ เอเลี่ยนสปีชีส์ ฆ่าไม่ตาย ก่อนกรมประมงจะไฟเขียวนำเข้าปลาหมอคางดำได้ ซึ่งประเด็นทั้งหมดเหล่านี้ต้องติดตามการให้ข้อมูลวันนี้