คอลัมน์หมายเลข 7 : ตลาดเกษตรอินทรีย์วังหมื่น สร้างเสร็จ 2 ปี ไม่เปิดใช้

View icon 87
วันที่ 27 ก.ค. 2567 | 16.20 น.
เจาะประเด็นข่าว 7HD
แชร์
เจาะประเด็นข่าว 7HD - เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ตลาดเกษตรอินทรีย์วังหมื่น จังหวัดหนองบัวลำภู สร้างเสร็จ แต่ยังไม่เปิดใช้งาน ทั้งที่โครงการใช้งบประมาณสูงถึง 11 ล้านบาท สาเหตุเพราะอะไร ติดตามได้กับ คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ในคอลัมน์หมายเลข 7

เพราะกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุ แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู กลับผลักดันโครงการก่อสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์วังหมื่น งบประมาณราว 11 ล้านบาท จนแล้วเสร็จในปี 2565 ทว่า กลับเปิดดำเนินการไม่ได้

เพราะตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ สีเขียวอ่อน ซึ่งเป็นประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ไม่ได้

เรื่องนี้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่หนองบัวลำภู เคยทำหนังสือถึงนายกองค์การบริหารจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ยืนยันว่า ไม่อนุญาตให้เช่าพื้นที่ดำเนินโครงการจนกว่าจะมีการแก้ไขผังเมือง

คำถามเกิดขึ้นว่าเหตุใดโครงการนี้จึงถูกเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้าง ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต

คอลัมน์หมายเลข 7 ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์วังหมื่น มีเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ ก่อสร้างร้านกาแฟ ร้านขายของ อาคารตลาด ห้องน้ำ ศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งอาคารทั้งหมดยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ติดปัญหาเป็นการก่อสร้างเพื่อจัดหาประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้

ขณะที่ นายชัยสิทธิ์ ชัยชนะสุวัฒน์ ประธานสภาหอการค้าจังหวัดหนองบัวลำภู ในขณะนั้น เป็นผู้ทำหนังสือถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู ขอสนับสนุนงบประมาณโครงการตลาดเกษตรอินทรีย์วังหมื่น

โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ คือ ใช้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้า และอ้างว่าสำนักงานธนารักษ์พื้นที่หนองบัวลำภู มีหนังสืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุแล้ว ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่อนุญาต

โครงการตลาดเกษตรอินทรีย์วังหมื่น ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ดี.อาร์.เอฟ.คอนสตรั๊คชั่น (ให้บริการ) เป็นผู้ก่อสร้าง

ผ่านมา 2 ปี เปิดดำเนินการไม่ได้ เพราะเร่งรีบใช้งบประมาณ ทั้งที่ขั้นตอนการขออนุญาตใช้พื้นที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู ผิดพลาด ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณส่อไม่คุ้มค่า แต่เมื่อทำไปแล้ว ลงทุนไปแล้ว ทางออกควรเป็นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง