กรมการแพทย์เตือน ดื่มเหล้าเถื่อน เสี่ยงตาบอด เลือดเป็นกรด หมดสติและเสียชีวิตกระทันหัน

กรมการแพทย์เตือน ดื่มเหล้าเถื่อน เสี่ยงตาบอด เลือดเป็นกรด หมดสติและเสียชีวิตกระทันหัน

View icon 134
วันที่ 24 ส.ค. 2567 | 16.26 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (24 ส.ค. 67) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้รับแจ้งพบผู้ป่วยที่ดื่มสุราเถื่อนมีส่วนผสมที่อันตราย เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลอื่นๆ ในเขตกรุงเทพมหานครพร้อมกันกว่า 10 คน ด้วยอาการเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติทั้งสองข้าง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม

ซึ่งขณะนี้กรมการแพทย์ ได้มีการตั้งศูนย์การประสานงานที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี  โดยได้มีการประสานงาน หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ และหน่วยงาน อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นกรุงเทพมหานคร กรมสรรพสามิตในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการดูแลรักษาของแพทย์พยาบาล รวมถึงได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเถื่อน เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การดื่มสุราเถื่อนเสี่ยงทำให้ได้รับสารพิษ อันจะก่อให้เกิดความผิดปกติต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เส้นประสาทตา และร่างกายทุกระบบจากภาวะเลือดเป็นกรด เมื่อผู้ป่วยดื่มเหล้าที่มีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์  เมื่อร่างกายมีการดูดซึม เมทิลแอลกอฮอล์จะถูกส่งไปเผาผลาญที่ตับ ซึ่งตัวฟอร์มัลดีไฮด์นี้เป็นพิษสูงต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง

อาการของผู้ป่วยที่เกิดจากพิษของเมทิลแอลกอฮอล์ มักจะมีประวัติดื่มเหล้าที่ผลิตเอง ยาดอง หรือเหล้าที่ราคาถูกเกินจริง หรือมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายอื่น ๆ อาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากการดื่มไปแล้ว 16-24 ชั่วโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างฟอร์มัลดีไฮด์และกรดฟอร์มิก

จากกระบวนการเผาผลาญที่เกิดขึ้นในร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่ อาการแฮงค์เหมือนการดื่มเหล้าทั่ว ไป ร่วมกับมึนเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติทั้งสองข้าง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม และเสียชีวิตจากภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรงและระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานล้มเหลว
              
ทั้งนี้ เนื่องจากอาการของผู้ป่วยอาจจะไม่จำเพาะเจาะจงมาก ดังนั้น ประวัติจากญาติหรือเพื่อนที่สามารถบอกเล่าพฤติกรรมการดื่ม หรือมีตัวอย่างของเครื่องดื่มมาด้วย จะช่วยให้นึกถึงภาวะนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดภาวะความผิดปกติทางระบบประสาทและลดอัตราเสียชีวิตได้