ผ่าตัดด่วน ทารก 14 วัน หลอดเลือดใหญ่หัวใจสลับขั้ว

ผ่าตัดด่วน ทารก 14 วัน หลอดเลือดใหญ่หัวใจสลับขั้ว

View icon 400
วันที่ 7 พ.ย. 2567 | 12.14 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โรคนี้พบน้อยแต่อัตราการเสียชีวิตสูง ทารกอายุเพียง 14 วัน หลอดเลือดใหญ่หัวใจสลับขั้ว-ทางเดินหายใจตีบแคบ ส่งตัวจากขอนแก่นเข้ารักษา รพ.เด็ก ผ่าตัดเร่งด่วน ขอให้การรักษาลุล่วงด้วยดี น้องได้กลับสู่อ้อมอกของพ่อแม่โดยเร็ว

ความคืบหน้าภารกิจช่วยชีวิตทารกน้อย อายุ 14 วัน ซึ่งวานนี้ จาก รพ.ขอนแก่น ส่งต่อมาเข้ารับการผ่าตัดเร่งด่วน ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก เพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดใหญ่หัวใจสลับขั้ว-ทางเดินหายใจตีบแคบ นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กฯ เผยว่าโรคนี้มักพบเพียง 1% ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือ 0.06 ต่อ ทารกแรกแรกเกิดมีชีพ 1,000 คน โรคหัวใจชนิดนี้เด็กจะเขียวจากการไม่เจริญของเส้นเลือดไปเลี้ยงปอด จำเป็นต้องได้ยาเฉพาะ ชื่อ PGE1 และผ่าตัดต่อเส้นเลือดไปเลี้ยงปอด ผู้ป่วยเด็กรายนี้มีหลอดลมตีบร่วมด้วย ซึ่งพบร่วมกันน้อยมาก แต่ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

นายแพทย์วรการ พรหมพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ กล่าวว่า ผู้ป่วยทารกแรกเกิดอายุประมาณ  2 สัปดาห์ ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลขอนแก่น ถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  ด้วยภาวะดังนี้
1.)โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดซับซ้อน ชนิดเขียวเลือดไปปอดน้อย ขณะนี้ให้ยาเปิดเส้นเลือดชั่วคราว เพื่อเพิ่มเลือดไปปอด จำเป็นต้องการได้รับการผ่าตัดใส่ท่อเทียมเพื่อเพิ่มเลือดไปปอด 
2.) มีหลอดลมส่วนบนตีบขณะนี้ใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อผ่านหลอดลมตีบชั่วคราว จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขหลอดลมส่วนบนตีบ
3.)ปอดติดเชื้อ รักษาโดยการใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ ร่วมกับให้ยาฆ่าเชื้อ และได้มอบแพทย์เชี่ยวชาญศัลยกรรมโรคหัวใจ และกุมารแพทย์โรคหัวใจดูแลรักษาต่อไป

หลังจากรับตัวผู้ป่วยเด็กเข้ารักษา นายแพทย์สนธกิติ์ ลีลหานนท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหัวใจ พร้อมด้วย แพทย์หญิงพรรณธิป ภัทรกุลวิวัฒน์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ และนายแพทย์กตัญญู บุณยวาณิชย์กุล กุมารแพทย์โรคหัวใจ ได้วางแผนร่วมกับทีมแพทย์ พยาบาล  มีแผนเข้าผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติโดย 1.ผ่าตัดใส่ท่อเส้นเลือดเทียมเพื่อเพิ่มเลือดไปปอด เพื่อแก้ไขความผิดปกติเบื้องต้นของโรคหัวใจ 2.ผ่าตัดแก้ไขหลอดลมส่วนบนตีบเพื่อรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งนี้จะมีการเฝ้าติดตามอาการเด็กอย่างใกล้ชิดต่อไป