“ทวี” เผย ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ เสร็จแล้ว ยัน ไม่เอื้อ “ยิ่งลักษณ์” กลับไทย

“ทวี” เผย ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ เสร็จแล้ว ยัน ไม่เอื้อ “ยิ่งลักษณ์” กลับไทย

View icon 101
วันที่ 26 ส.ค. 2567 | 16.56 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“รมว.ยุติธรรม” เผย ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ เสร็จแล้ว รอพิจารณาแนวทางปฏิบัติ อาจติดกำไล EM –รายงานตัว- เจ้าหน้าที่เข้าตรวจ ยัน ไม่เอื้อ “ยิ่งลักษณ์” กลับไทย

วันนี้ (26 ส.ค.67) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ และการจัดทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ว่า

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันนี้เรือนจำ/ทัณฑสถาน สามารถบรรจุจำนวนผู้ต้องขังได้มากสุดไม่เกิน 2 แสนคน ซึ่งกฎหมายราชทัณฑ์ได้กำหนดสถานที่กุมขังไว้ 3 ประเภท คือ เรือนจำ, โรงพยาบาลสำหรับคนป่วย และ สถานที่คุมขังตามมาตรา 33,34 ซึ่งใช้เป็นสถานที่คุมขังอื่น ที่ไม่ใช่อำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขัง ยกตัวอย่าง กรณีนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด อาจต้องไปอยู่ที่คุมขังอื่น แต่ต้องเป็นที่ที่จะทำให้เขาไม่หลบหนีอีก และไม่ก่อเหตุร้าย รวมถึงต้องมีการพัฒนาพฤตินิสัย ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ เมื่อกลับสู่สังคมก็ต้องไม่ไปกระทำความผิดซ้ำอีก เช่น มีสถานสำหรับเรียนหนังสือ สถานที่ฝึกอาชีพ หรืออาจเป็นเรือนจำซูเปอร์แม็กซ์ก็ได้

ตอนนี้ตนทราบว่านายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้จัดทำระเบียบเรียบร้อยแล้ว หรือแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง หรือหลักเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงต้องนำเรื่องรายงานเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการราชทัณฑ์ก่อน โดยในชุดคณะกรรมการฯ จะมีผู้แทนจากหน่วยต่าง ๆ มาช่วยดูรายละเอียด ทั้งจากอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นต้น

ส่วนคุณสมบัติที่จะเข้าเกณฑ์อาจจะเป็นผู้ต้องขังเจ็บป่วย ผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปี หรือผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และอาจมีมาตรการเบื้องต้นสำหรับผู้ต้องขังที่ได้คุมขังสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ โดยบางรายอาจต้องติดกำไล EM มีการรายงานตัวในระบบออนไลน์ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปสอดส่องตรวจตรา โดยเกณฑ์ต่าง ๆ รมว.ยุติธรรม ไม่ใช่ผู้กำหนด จึงไม่สามารถระบุจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายได้ แต่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภายในชุดคณะกรรมการราชทัณฑ์ พิเคราะห์ว่าทำอย่างไรให้เรือนจำไม่ถูกมองว่าเป็นที่แออัดยัดเยียด จึงต้องให้เรือนจำแต่ละแห่งไปดูว่าสถานที่ใดเหมาะสมใช้เป็นสถานที่คุมขังอื่นได้บ้าง และทุกที่ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ จะทันกรอบสิ้นปี 2567 หรือไม่นั้น อยู่ที่แต่ละเรือนจำ และต้องรอการแต่งตั้ง ครม. ให้แล้วเสร็จก่อน เพราะยังเป็นเรื่องใหม่และคนสงสัย กฎหมายก็ต้องปฏิบัติได้จริง

เดิมทีคุณสมบัติผู้เข้าเกณฑ์กำหนดให้เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย หรือประมาณโทษ 4 ปี แต่ในระเบียบก็ไม่ได้มีการกำหนดอัตราโทษไว้ อยู่ที่เรือนจำแต่ละเเห่งไปพิจารณาว่าผู้ต้องขังเด็ดขาดรายใดมีพฤติกรรมดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปก่อเหตุร้าย และไม่ไปยุ่งเหยิงสิ่งใด ส่วนคดีข่มขืนหรือคดีที่มีการกระทำความผิดซ้ำตามกฎหมาย JSOC ก็อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้ แต่หลักสำคัญของสถานที่คุมขังอื่นก็เพื่อพัฒนาพฤตินิสัย ดังนั้น การใช้กฎหมายของกระทรวงยุติธรรมต้องใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมถึงนักโทษเด็ดขาดในรายคดีรุนแรงก็อาจได้สิทธิในระเบียบนี้เหมือนกัน แต่เราก็ต้องไปหารือพูดคุยกับหน่วยงานราชการอื่นถึงความพร้อมในการใช้สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ และจากนั้นจึงจะมีการไปตรวจสอบสถานที่นั้น ๆ ว่าเข้ามาตรฐานหรือไม่

ส่วนคดีทุจริตคอรัปชัน ที่ไม่ใช่คดีการกระทำความผิดซ้ำตามกฎหมาย JSOC เราจะต้องให้ความสำคัญรักษาความสมดุลระหว่างความรู้สึกของประชาชน แม้มีกฎหมายบัญญัติแต่ก็ต้องดูความเหมาะสมประกอบ และต้องระวังเรื่องความปลอดภัยของสังคมและตัวผู้ต้องขังเอง หากต้องไปคุมขังนอกเรือนจำ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวยืนยันด้วยว่า ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำไม่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมันเป็นสุญญากาศ เราจึงต้องทำ แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศเรื่องระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ออกมา ก็มีการโยงไปเกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้ผู้ต้องขังเสียโอกาสไปเยอะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง